จากเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งส่งออกแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนทำให้คนงานหลายร้อยคนมีอาการเวียนศีรษะ และหมดสตินับสิบคนจากการสูดดมแอมโมเนีย จนต้องอพยพผู้คนที่พักอาศัยละแวกใกล้เคียงโรงงานในช่วงดึก เนื่องจากสารแอมโมเสียลอยฟุ้งและกระจายไปทั่วโรงงานและบริเวณรอบ ๆ เกรงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนในพื้นที่และใกล้เคียงได้
จากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนคงอยากรู้ว่าก๊าซแอมโมเนียคืออะไร หากเผลอไปสูดดมแอมโมเนียอันตรายไหม เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากพิษของสารแอมโมเนีย
ก๊าซแอมโมเนียคืออะไร
แอมโมเนีย ภาษาอังกฤษเขียนว่า Ammonia คือ สารเคมีอันตรายชนิดหนึ่งตามรายชื่อกฏหมายกำหนด นิยมนำไปใช้กับกระบวนการผลิต และผลิตกันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีแอมโมเนียที่ผลิตในร่างกายมนุษย์ และพบได้ในตามแหล่งธรรมชาติที่เกิดขึ้นในดินจากกระบวนการของแบคทีเรีย ผลิตขึ้นในพืช สัตว์ และกระบวนการย่อยสลายจากของเน่าเสียเช่นกัน
แอมโมเนีย คุณสมบัติมีอะไรบ้าง
- มีสถานะเป็นก๊าซ
- ไร้สี
- มีกลิ่นฉุนรุนแรง
- ละลายน้ำได้
- ระคายเคืองสูง
- มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ
- มีความสเถียรที่อุณหภูมิปกติ แต่จะสลายตัวให้ไนโตรเจนและไฮโดรเจนที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 450 – 500 ํC ที่ความดันบรรยากาศ
- ถ้าอยู่ภายใต้ความดัน และ อุณหภูมิต่ำ จะมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ -33.4 ํ C
ก๊าซแอมโมเนียใช้ทำอะไร
แอมโมเนีย สูตรเคมี คือ NH3 เป็นสารพิษไร้สี แต่มีกลิ่นฉุนรุนแรง เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ และมีจุดเดือดต่ำ จึงนิยมนำสารแอมโมเนียมาใช้เป็นก๊าซทำความเย็นทางอุตสาหกรรม แทนที่คอลโรฟลูออโรคาร์บอน โดยเฉพาะโรงงานทำน้ำแข็ง อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง และห้องเย็น นอกจากนี้ยังนำแอมโมเนียไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สารเคมีทำความสะอาด, การทำน้ำให้บริสุทธิ์ , ปุ๋ยทางการเกษตร ผลิตพลาสติก เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบสำคัญด้านเภสัชภัณฑ์
ก๊าซแอมโนเนีย ประโยชน์ โทษ มีอะไรบ้าง
ข้อดีของการก๊าซแอมโมเนีย คุณสมบัติมีประสิทธิภาพสูง ราคาถูก และไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศเท่ากับสารทำความเย็นคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ชนิดอื่น ๆ
ข้อเสียของก๊าซแอมโมเนีย คือ เป็นสารพิษที่มีส่วนในการเร่งปรากฏการณ์ Eutrophication (ยูโทรฟิเคชั่น) ของระบบนิเวศน์
ปริมาณแอมโมเนียเท่าไรจึงเป็นอันตราย
ได้มีการกำหนดขีดจำกัดความเข้มข้นของสารแอมโมเนียตลอดระยะเวลาทำงานปกติ ไม่เกิน 50 ppm (ppm คือ ส่วนในล้านโดยปริมาณ) โดย OSHA ได้ประมาณการไว้ว่า ผู้คนจะเริ่มได้กลิ่นแอมโมเนีย เมื่อมีความเข้มข้นตั้งแต่ 5 – 50 ppm หากมีการสูดดมก๊าซแอมโมเนียตั้งแต่ 24-50 ppm เป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 10 นาที จะเริ่มรู้สึกระคายเคืองในจมูกและลำคอ และรู้สึกมากขึ้นจนอาจคลื่นไส้และวิงเวียนได้ เมื่อได้รับก๊าซแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นตั้งตแ่ 72-134 ppm และอาจถึงขั้นช็อค หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ หากมีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 700 – 10,000 ppm
อันตรายจากสารแอมโมเนีย
แอมโมเนียเป็นสารเคมีอันตรายต่อทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ ดวงตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ
- ดวงตา หากสารแอมโมเนียกระเด็นเข้าตา จะทำการกัดกร่อน และสร้างความระคายเคืองแก่เยื่อบุตา รู้สึกแสบตา น้ำตาไหล และอาจทำให้ตาบอดได้
- ผิวหนัง สารแอมโมเนียสามารถกัดกร่อนผิวหนังให้ไหม้จนเกิดแผลพุพอง เนื้อเยื่อตาย เกิดรอยแผลเป็นถาวร และอาจติดเชื้อรุ้นแรงได้ หรืออาจเกิดแผลไหม้จากความเย็นจัด (cool burn) เมื่อไปสัมผัสแอมโมเนียที่เป็นของเหลว
- ระบบทางเดินหายใจ เมื่อมีการสูดดมเอาไอระเหยแอมโมเนียเข้าสู่รางกาย เริ่มแรกจะรู้สึกระคายคอ แสบจมูกอย่างรุนแรง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และหากได้รับปริมาณก๊าซแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูง หรือสูดดมเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดพิษสูงต่อร่างกาย และเสียชีวิตจากการมีของเหลวสะสม Pulmonary edema ได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารพิษแอมโมเนีย
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยจากการสูดดมก๊าซแอมโมเนีย
- รีบนำตัวประสบเหตุออกจากพื้นที่มีก๊าซแอมโมเนียไปยังพื้นที่โล่ง เหนือลม และมีอากาศถ่ายเท
- ตรวจสอบการหายใจและการเต้นของหัวใจ
- กรณีที่หายใจปกติ ให้คลายเสื้อผ้าให้หลวม หากมีเหงื่อออกให้เช็ดตัว ถ้าผู้ประสบเหตุมีอาการรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำ
- กรณีที่หายใจติดขัด หรือผู้ประสบเหตุไม่รู้สึกตัวและหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยหายใจด้วยการใช้อุปกรณ์ชนิดครอบวาล์วอากาศ หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมือบีบ และทำจนกว่าผู้ประสบเหตุกลับมาหายใจได้สะดวก ห้ามผายปอดด้วยการเป่าปาก
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยจากการสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนัง
- รีบถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับของผู้ประสบเหตุออก
- เปิดน้ำหรือรินน้ำสะอาดให้ไหลผ่านบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแอมโมเนียอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 15 นาที
- กรณีที่สัมผัสแอมโมเนียและเกิดแผลไหม้จากความเย็นจัด ให้แช่หรือประคบบริเวณแผลไหม้ด้วยน้ำอุ่น และใช้ผ้าสะอาดคลุมบริเวณแผล จากนั้นไปพบแพทย์
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยจากการสัมผัสแอมโมเนียทางปาก (สัมผัสโดนปาก หรือ กลืน กิน)
- ห้ามล้วงคอ หรือทำให้อาเจียน
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
- กรณีผู้ประสบเหตุหมดสติ ให้จับนอนหงาย เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง สังเกตการหายใจ จับชีพจรที่ต้นคอหรือขาหนีบ หากหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยเหลือชีวิตด้วยวิธีการปั๊มหัวใจ
- รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยจากการสัมผัสแอมโมเนียทางดวงตา
- ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด
- กรณีผู้ประสบเหตุใส่คอนแทคเลนส์ ให้ถอดออก
- ตะแคงเอียงหน้า แล้วล้างตาด้วยการให้น้ำไหลผ่านดวงตาจากหัวตาไปหางตาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 30 นาที
- รีบไปพบแพทย์