วิกฤตอาหารโลก 2022 หายนะใหม่ที่อาจยาวต่อเนื่องไปอีกหลายปี

แม้ว่าจะมีบางประเทศที่มีความพร่องและขัดสนด้านอาหาร แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยหากนับจากทุกประเทศเหมารวมทั่วโลก และถ้าใครที่เป็นคอหนังฮอลลีวูดหลายแนวสักหน่อย อาจเคยได้เห็นฉากของหนังที่กล่าวถึงยุคการขาดแคลนอาหาร ผลกระทบจากสงครามหรือภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น วันสิ้นโลก นั้น แต่รู้ไหมว่าทุกฉากในหนังที่สร้างสรรขึ้นมาเพียงแค่ความบันเทิงให้กับคนดู มันกำลังเกิดขึ้นจริงและอาจทวีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตได้ในเร็ว ๆ นี้ 

เมื่อล่าสุดที่ผ่านมา สถาบัน Globla Report on Food Crises 2022 ได้มีรายงานว่า ประชากรเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับสภาวะที่อาจเรียกได้ว่าขาดแคลนด้านอาหาร ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน และนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงคลื่นความรุนแรงขั้นวิกฤตลูกใหญ่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เข้าไปทุกที 

สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก 

โครงการอาหารโลก หรือ WFP (World Food Programme) ได้วิเคราะห์ถึงต้นเหตุของวิกฤตอาหารโลก 2022 ที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ส่วนหลักด้วยกัน ได้แก่ 

1. ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย – ยูเครน เป็นเหตุให้ราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนั้นเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก อาทิเช่น ข้าวสาลี (30%) น้ำมันพืช (80%) ข้าวโพด (19%) เมื่อเปรียบกับอัตราส่วนของตลาดโลก และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ได้มีการปรับราคาข้าสาลีเพิ่มขึ้นกว่า 31% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 หรือราคาข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นกว่า 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

การสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวหยุดชะงัก ตลอดไปถึงการส่งออกที่ไม่สามารถทำได้ เพราะท่าเรือในทะเลดำที่เป็นเส้นทางการส่งออกถูกปิดล้อมด้วยเรือรบของรัสเซีย ส่งผลกระทบหลายประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางเกษตรจากยูเครนและรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็น ตุรกี อาเมเนีย อียิปต์ มองโกเลีย เยเมน ปากีสถาน หรือ เยเมน หรืออย่างประเทศเลบานอน ที่ต้องร้องขอความช่วยเหลือเงินกู้จากธนาคารโลกกว่า 150 ล้านดอลล่าร์ หรือราว ๆ 4,800 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายค่าอาหารให้แก่ประชาชนในประเทศ และผลจากสงครามในครั้งนี้ทำให้ผู้คนกว่า 139 ล้านคนใน 24 ประเทศตกอยู่ในภาวะความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างฉับพลัน และเพิ่มสูงขึ้นจาก 99 ล้านคนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

2. ภาวะโลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการผลิตด้านการเกษตรให้ตกต่ำลง ซึ่งหากดูจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ในเดือนกุมภาพันธุ์ ภาวะการขาดแคลนอาหารจะเกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ไฟไหม้ ฯลฯ ล้วนแต่มีผลต่อการเกษตรทั้งสิ้น เพราะทำให้มีผลผลิตตกต่ำลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากร และประเทศที่เราได้เห็นกันอย่างชัดเจนมาแล้ว อย่าง ประเทศ อินเดีย แคลิฟอร์เนีย และยุโรปตอนใต้ ที่เผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง จนทำให้ผลผลิตข้าวสาลีลดลง หรืออย่างประเทศจีนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ จนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น 

ไม่เพียงแค่นั้น จากภาวะโลกร้อนขึ้น ยังทำให้เกิดศัตรูพืชบางชนิดเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น แมลงต่าง ๆ โดย Enock Chikava ผู้อำนวยการชั่วคราวด้านการพัฒนาการเกษตรของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ได้กล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1 องศาฯ ก็สามารถส่งผลกระทบในทุก ๆ ด้านที่เชื่อมโยงให้เข้าสู่วิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลกได้อย่างรุนแรงกว่าจากผลกระทบจาก ยูเครน – รัสเซีย และถ้าหากโลกยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้นต่อไป จนถึง 1.5 หรือ 2 องศาฯ นั่นจะนำทำให้โลกเข้าสู่หายนะ 

3. ปุ๋ยแพง นอกจากสินค้าการเกษตรจะแพงแล้ว ราคาปุ๋ยที่เป็นวัตถุดิบเองก็มีราคาแพงขึ้นเช่นกัน เป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะสงครามในรัสเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยรายใหญ่ ทำให้มีผลกระทบต่อระบบขนส่งปุ๋ยไปยังประเทศต่างๆ อีกทั้งก๊าซปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ปุ๋ยต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย  

วิกฤติอาหารโลกรุนแรงแค่ไหน 

ราคาอาหารที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้น้อย โดยข้อมูลจากธนาคารโลกได้มีการระบุว่า ผู้คนราว 10 ล้านคนทั่วโลกจะกลายเป็นผู้ประสบปัญหาความอดอยาก กลายเป็นผู้ยากไร้ และจะมีคนเป็นโรคขาดสารอาหารมากกว่า 40 ล้านคน เพิ่มจาก 31 ล้านคนจากปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการขึ้นราคาสินค้าทุก ๆ 1% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอาจเป็นจำนวนถึง 1,800 ล้านคน โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ The Great (Food) Shorttage หรือวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลก 

ปัญหาขาดแคลนอาหารในไทย 

ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบอย่างไม่น้อยหน้า เห็นได้ชัดเจนจากสินค้าต่าง ๆ พากันปรับราคาแพงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น จากราคาหมูที่ดิโลกรัมละ 180 บาท แต่กระโดดข้ามไปเรทที่ 250-300 บาท / กก. แม้แต่เนื้อสัตว์อื่น ๆ ผักสดต่างๆ และเมื่อวัตถุดิบราคาแพงขึ้น ในส่วนของร้านค้าต่าง ๆ ก็ปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ยังไม่รวมไปถึงค่าแก๊สหุงต้ม ค่ารถโดยสารสาธารณะ ค่าทางด่วน ฯลฯ ในขณะที่รายได้ของประชาชนยังคงเท่าเดิม ทำให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จนอาจแบกรับไม่ไหว และอาจทำให้เกิดโรคขาดสารอาหารและมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยอื่น ๆ ตามมาได้เช่นกัน 

ถึงเวลาที่ต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างเร่งด่วน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ผลผลิตมีไม่เพียงพอ และยังทำให้ราคาสินค้าสูงขี้นเป็นเท่าตัว นอกจากความเสียหายจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย – ยูเครน สองประเทศผู้ผลิตและการส่งวัตถุดิบการเกษตรในตลาดโลก แต่ผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายในทุกด้านกับมนุษย์โลก คือ ภาวะภัยธรรมชาติที่เราทุกคนเองก็ควรเร่งแก้ไขอย่างด่วนที่สุด เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติกลับคืนสู่สภาวะปกติ จนสามารถผลิตผลการเกษตรได้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก โดยเราทุกคนควรร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไขวิกฤตอาหารของโลก ด้วยการยุติปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวโน้มการนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร ทั้งภาครัฐ เอกชน และทุกครัวเรือน เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถาวร 

Previous Post
Next Post