แนะวิธีตรวจชีพจร การวัดสัญญาณชีพเบื้องต้นที่ทุกคนควรรู้

เราสามารถตรวจชีพเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง จากการจับตามบริเวณอวัยวะที่มีเส่นเลือดแดงอยู่ใกล้กับผิวหนัง เช่น ข้อมือ หรือ ลำคอ วันนี้เราจะมาแนะวิธีการตรวจชีพจรเบื้องต้นด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้วัดสัญญาณชีพ เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยในขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสม 

อวัยวะส่วนใดที่สามารถตรวจวัดชีพจรได้บ้าง

ข้อมือ 

วิธีตรวจชีพจรที่ข้อมือ ทำได้โดยการยื่นมือข้างหนึ่งไปข้างหน้า งอศอกเล็กน้อย และหงายฝ่ามือขึ้น จากนั้นวางนิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างหนึ่งลงไปจับชีพจรที่ข้อมือบริเวณโคนนิ้วโป้ง กดนิ้วชี้และนิ้วกลางลงบนผิวหนัง จนกว่าจะรู้สึกถึงการเต้นของชีพจร หรืออาจขยับตำแหน่งนิ้วทั้งสองจนกว่าจะเจอจุดที่รับรู้ถึงชีพจร 

ลำคอ 

ลำคอเป็นอีกบริเวณของร่างกายที่สามารถวัดชีพจรได้ แต่จะยากกว่าที่บริเวณข้อมือ วิธีการตรวจชีพจรที่ลำคอ ทำได้โดยการวางนิ้วชี้และนิ้วกลางตรงลำคอ บริเวณใต้กรามใกล้กับหลอดลม ซึ่งเป็นจุดชีพจรบริเวณเส้นเลือดแดงแคโรติคที่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ควรจับชีพจรที่คอพร้อมกันทั้งสองด้าน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายและหมดสติได้ 

การวัดชีพจร นับอย่างไร 

เมื่อสามารถหาจุดที่สามารถรับรู้ได้ถึงการเต้นของชีพจร ให้เริ่มนับอัตราการเต้นของชีพจร 1 นาที โดยอาจจับเวลา 1 นาที แล้วนับจำนวนครั้งที่ชีพจรเต้น  หรืออาจจับเวลา 30 วินาที แล้วจึงนับจำนวนครั้งที่ชีพจรเต้นนำไปคูณด้วย 2 

การตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจ ควรจับชีพจรแล้วสังเกตความผิดปกติของจังหวะชีพจรภายใน 20 – 30 วินาที ว่าชีพจรเต้นเร็ว เต้นแรง ชีพจรเต้นอ่อน หรือ ชีพจรเต้นขาดช่วงหรือไม่ เป็นต้น 

ชีพจรปกติเต้นกี่ครั้งต่อนาที 

โดยทั่วไปแล้วชีพจรเต้นกี่ครั้งต่อนาทีจะขึ้นอยู่กับวัยและความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งปกติแล้ว ผู้ใหญ่จะมีชีพจรเต้นประมาณ 60 – 100 ครั้ง / นาที แต่ผู้ที่เป็นนักกีฬาหรือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มักจะมีชีพจรต่ำกว่า โดยอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 40 – 60 ครั้ง / นาที 

ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่ออัตราการเต้นของชีพจร 

  • ขนาดของร่างกาย 
  • ความแข็งแรงของร่างกาย 
  • อารมณ์
  • การทำกิจกรรมต่าง ๆ 
  • อากัปกิริยา เช่น การยืน การนั่ง การนอน การเดิน การวิ่ง เป็นต้น 
  • อุณหภูมิอากาศ 
  • การใช้ยารักษาบางชนิด 

อัตราการเต้นของชีพจรเท่าไรจึงผิดปกติและควรรีบไปพบแพทย์ 

  • ชีพจรเต้นสูงกว่า 100 ครั้ง / นาที หรือต่ำกว่า 60 ครั้ง / นาที อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้เป็นนักกีฬา หรือขณะที่มีอาการป่วยอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หายใจไม่อิ่ม หอบเหนื่อย เป็นต้น 
  • ชีพจรเต้นสูงกว่า 120 ครั้ง / นาที หรือต่ำกว่า 40 ครั้ง / นาที อย่างต่อนเนื่อง 
  • รู้สึกอัตราการเต้นชีพจรของตนเองผิดปกติไปจากเดิม 

ชีพจรเต้นผิดปกติส่งผลต่อปัญหาสุขภาพด้านใดบ้าง 

  • ภาวะหัวใจเต้นเร็ว คือ ชีพจรเต้นเร็วเกิน 100 ครั้ง / นาที อาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ อ่อนล้า หัวใจหวิว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย หรืออาจเป็นลม หมดสติ และหากมีอาการร้ายแรงอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน หัวใจวาย หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ 
  • ภาวะหัวใจเต้นช้า คือ ชีพจรเต้นช้ากว่า 60 ครั้ง / นาที อาจส่งผลกระทบต่อระบบการสูบฉีดเลือดและการลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในร่างกายไม่ทั่วถึง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ มึนงง หายใจไม่สุด ใจสั่น วูบ เป็นลมบ่อย และอาจมีอาการร้ายแรงจนทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตผิดปกติ หัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตลงได้ 
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ อัตราการเต้นของชีพจรมีลักษณะผิดปกติ โดยอาจมีอัตราการเต้นของชีพจรเต้นสูง – ต่ำ เกิดขึ้นร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น แร่ธาตุในเลือดไม่สมดุล มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือมีอาการบาดเจ็บจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โดยอาการอาจแตกต่างกันตามตำแหน่งของหัวใจที่เกิดความเสียหาย 

Previous Post
Next Post