อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าในบ้านที่ควรมีทุกบ้าน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน

ปัญหาจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หรือเวลาที่มีฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คือ ไฟตก ไฟกระชาก โดยแรกเริ่มอาการติด ๆ ดับ ๆ แอร์ไม่เย็นหรืออาจดับไปเลย หลอดไฟกระพริบบ่อย ๆ หรือเปิดแล้วหลอดไฟไม่ติด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ป้องกันได้ด้วยอุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก มีทั้งแบบเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าที่ผนังหรือรางปลั๊กพ่วง และมีแบบที่ติดตั้งในตู้ไฟ MDB หรือตู้คอนซูมเมอร์ 

และอีกหนึ่งปัญหาที่ก่อให้เกิดอันตรายกับชีวิตได้ เนื่องจากมี “น้ำ” เป็นสื่อกลาง คือ ไฟดูด ที่มักจะพบมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากกรณีไฟดูดในช่วงหน้าฝนมากกว่าปกติ เพราะเมื่อเผลอไปสัมผัสกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ตัวเปียกฝน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด มีกระแสไฟรั่ว อาจทำให้เกิดไฟดูดได้เมื่อมีน้ำไหลเข้าไป หรือหลังคารั่ว ผนังมีน้ำซึมหยดโดนปลั๊กไฟ ก็เป็นเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและถูกไฟดูดได้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงอุบัติเหตุจากกระแสไฟเกินที่เกิดจากฟ้าผ่า สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและเป็นอันตรายต่อชีวิตเช่นกัน 

อุปกรณ์ช่วยป้องกันไฟดูด ไฟช็อต ไฟกระชาก มีอะไรบ้าง 

ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการติดตั้ง เซอร์กิตเบรกเกอร์ และ เบรกเกอร์กันไฟดูด รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก หรือ Surge Protection โดยอุปกรณ์ทั้ง 3 ชนิดนี้ ทำหน้าที่ในการช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินเหมือนกัน หากเป็นไปได้จึงควรติดตั้งให้ครบ โดยเฉพาะสถานที่มีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก และใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้าจำนวนสูง 

  1. เมนเบรกเกอร์กันดูด หรือ RCBO 2 Pole ช่วยป้องกันไฟช็อต ไฟดูด และ ไฟลัดวงจร 
  2. เบรกเกอร์กันดูดแบบลูกย่อย หรือ RCBO 1 Pole ทำหน้าที่ในการตัดไฟเฉพาะจุดที่มีปัญหา ทำให้ไฟไม่ดับทั้งบ้าน 
  3. Surge Protection ป้องกันแรงดันไฟฟ้าส่วนเกินจากฟ้าผ่า ที่อาจส่งผลเสียต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้

เบรกเกอร์กันไฟดูด ไฟรั่ว

อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด หรือ เบรกเกอร์กันดูด (Residual Current Protective Devices) จะทำหน้าที่ป้องกันไฟดูด โดยการตัดวงจรอัตโนมัติเมื่อตรวจพบมีค่ากระแสไฟรั่วเกินค่ากำหนด ยกตัวอย่าง เมื่อเราไปสัมผัสเครื่องซักผ้าที่ชำรุดจนมีกระแสไฟรั่วออกมาที่ตัวเครื่อง เบรกเกอร์จะตัดวงจรเพื่อไม่ให้เราโดนไฟดูด เป็นต้น 

หลักการทำงานของเบรกเกอร์กันดูด 

หลักการทำงานของเบรกเกอร์กันดูด จะวัดค่ากระแสไฟเข้า-ออก หากพบว่ามีปริมาณของกระแสไฟไม่เท่ากันตามสเปคที่กำหนดไว้ในอุปกรณ์ เบรกเกอร์กันดูดจะตัดวงจรทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากกระแสไฟฟ้า 

Circuit Breaker

เบรกเกอร์กันดูดออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 

  1. RCCB (Residual Current Circuit Breaker) คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ป้องกันไฟรั่ว / ไฟดูด เพียงอย่างเดียว มักจะติดตั้งควบคู่กับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น การรองรับอุปกรณ์ชนิดนี้อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก.2425-2552 และ IEC 61008  
  2. RCBO (Residaul Current Circuit Breaker with Over Current Protection) คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ป้องกันทั้งไฟดูด ไฟรั่ว ไฟฟ้าเกิน (overload) และไฟลัดวงจร (short circuit) เป็นเบรกเกอร์ที่มีขนาดเล็กพิเศษ ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต และยังมีหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบ 1 ช่องอุปกรณ์เพื่อติดตั้งแทนเซอร์กิตเบรกเกอร์ลูกย่อย และแบบ 2 ช่องอุปกรณ์เพื่อติดตั้งแทนเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน 

ไฟกระชากคืออะไร 

ไฟกระชาก คือ การที่แรงดันไฟฟ้าเกิดความผิดปกติ หรือมากกว่า 220V (เป็นแรงดันไฟฟ้าปกติที่ใช้ในบ้านและอาคารทั่วไป) อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และอาจส่งผลกระทบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในบ้านที่กำลังทำงานอยู่ให้เกิดเสียหายได้ 

ไฟกระชากเกิดจากอะไร

ไฟกระชากเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ฝนตก ฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า การวางระบบไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน การใช้เครื่องไฟฟ้าที่กินกำลังไฟสูง สังเกตได้เมื่อเปิดใช้เครื่องปรับอากาศ หรือคอมพิวเตอร์ กระแสไฟที่ผิดปกติจะมาทางสายไฟทั้ง L,N,G สายสัญญาณต่าง ๆ อย่าง สายจานดาวเทียม สาย LAN หรือสายโทรศัพท์ และเมื่อเกิดไฟกระชาก ก็จะสร้างความเสียหายหรือมีผลต่ออายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นให้สั้นลงอย่างรวดเร็ว และยังเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ จึงทำให้การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ มีการติดตั้ง “ระบบกันไฟกระชาก” เสริมเข้ามาด้วยนั่นเอง 

Surge Protection คืออะไร

Surge Protection หรือ ระบบกันไฟกระชาก คือ อุปกรณ์ช่วยป้องกันความเสียหายจากแรงดันไฟฟ้าสูงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วขณะหนึ่ง หรือไฟกระโชกจากกระแสฟ้าผ่าทางอ้อมจากสายส่งของการไฟฟ้า

อุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก (Surge Protection)

ประโยชน์ของ Surge Protection

เมื่อฟ้าผ่าลงพื้นดินจะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำขึ้นในทุกทิศทาง โดยสนามแม่เหล็กฯที่ว่านี้จะเรียกว่า แรงดันเสิร์จ Surge และการเกิดเสิร์จในบางครั้งอาจไปเหนี่ยวนำกับสายส่งของการไฟฟ้า ทำให้เกิดแรงดันกระโชกเข้ามาภายในบ้านได้ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดความเสียหายได้ การติดตั้ง Surge Protection  จะช่วยปกป้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ จากสภาวะ Surge ที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ และจากปัญหาระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ด้วยการเปลี่ยนทิศทางกระแสเสิร์จให้วิ่งผ่านตัวมันเองลงสู่กราวด์แทนที่จะเข้าไปภายในบริเวณบ้านนั่นเอง 

หน้าที่ของ Surge Protection  

Surge Protection มีหน้าที่หลัก ๆ คือ การลัดวงจรตัวเองในขณะที่เกิดแรงดันเกิน เพื่อเปลี่ยนทิศทางของกระแสเสิร์จลงสู่กราวน์ โดยหน้าที่หลัก ๆ  2 ประการ คือ  

  1. สร้างบริเวณหนึ่งให้มีความต้านทานต่ำ เพื่อให้กระแสไฟฟ้าที่สูงกว่ากลับไปอยู่ในสภาวะปกติ ซึ่งได้แก่ สายดิน 
  2. ทำการเหนี่ยวนำแรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าสูงกลับไปยังจุดสร้าง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา 

สรุป

จากทั้งหมดนี้จึงเห็นได้ว่า การติดตั้ง Surge Protection หรือ ระบบกันไฟกระชาก นั้นมีความสำคัญมากแค่ไหนกับระบบไฟฟ้า ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะฤดูฝนหรือช่วงที่มีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างเสี่ยง ฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง หรือแม้แต่กระแสไฟเกินที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงควรให้ความสนใจตั้งแต่การเลือกเบรกเกอร์ อุปกรณ์ป้องกันไฟตก ไฟเกิน ที่มีมาตรฐานรับรอง อย่าง มอก.หรือ IEC เพื่อการันตีถึงคุณภาพ ความปลอดภัย ทนทานต่อการใช้งาน เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า schneider จาก SQD Group ที่เป็นระบบปลั๊กออน และมีการดีไซน์ให้เข้ากับทุกรูปแบบการติดตั้ง สะดวกแก่การเข้าถึงและง่ายต่อการเปลี่ยนเบรกเกอร์ใหม่ในอนาคต 

Previous Post
Next Post