อัพไลน์ (Upline) – ดาวน์ไลน์ (Downline) ต่างกันอย่างไร | แชร์ลูกโซ่ Forex 3D

ตอนนี้กระแสเรื่องการแชร์ลูกโซ่กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพราะมีดาราชื่อดังต้องถูกำดำเนินคดีไปเมื่อไม่นานมานี้  แต่ยังมีอีกหลายรายชื่อถูกเปิดเผยออกมาว่ามีเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ Forex 3D เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่นักร้องชื่อดังอย่าง โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ ที่ข้อมูลเผยว่าเขาได้ลงทุนไปกับกระบวนการแชร์ลูกโซ่นี้ไปถึง 7 แสนบาทเลยทีเดียว แต่คุณโต๋ไม่ได้ถือว่ามีความผิดเพราะไม่ใช่ upline แต่เป็นเพียงดาวน์ไลน์เท่านั้น

เอาล่ะสิ แล้วเจ้าอัพไลน์-ดาวน์ไลน์ นี่มันคืออะไรยังไงกันแน่ มาร่วมเจาะลึกข้อมูลไปพร้อมๆ กันเลย

อัพไลน์ (upline) – ดาวน์ไลน์ (downline) คืออะไร

อัพไลน์กับดาวน์ไลน์จะมีจุดร่วมกันคือการทำงานแบบเครือข่าย ชักชวนผู้คนมาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้องค์กรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยความต่างหลักๆ ของอัพไลน์กับดาวน์ไลน์ก็คือ

  • อัพไลน์ทำหน้าที่ในการสร้างทีม ตามหา (ชักชวน) ดาวน์ไลน์มาร่วมทีม
  • อัพไลน์ได้ค่าตอบแทนจากการเชิญชวนดาวน์ไลน์มาร่วมทีม
  • อัพไลน์ได้ค่าส่วนแบ่งจากยอดการทำงานของดาวน์ไลน์
  • ดาวน์ไลน์สามารถขึ้นมาเป็นอัพไลน์ได้จากการเชิญชวนดาวน์ไลน์อีกทอดหนึ่ง
  • ในหลายๆ กรณี อัพไลน์จะช่วยดาวน์ไลน์ของตัวเองในการสร้างดาวน์ไลน์อีกเครือข่าย เพื่อให้เครื่อข่ายของตนให้แข็งแกร่งขึ้น จะได้ต่อยอดรายได้ของตนเองให้เยอะขึ้นไปอีก

โดยจุดเริ่มต้นของธุรกิจแบบนี้ถูกเรียกว่า MLM (Multi-level Marketing) หรือการตลาดแบบหลายระดับ ที่ใช้ในการตลาดแบบขายตรงสมัยก่อน ซึ่งแบ่งระดับของผู้คนในองค์กรผ่านการชักชวนให้มาร่วมทำธุรกิจ กล่าวโดยสรุป ผู้ชวนจะถูกเรียกว่าอัพไลน์ ผู้ถูกชวนจะถูกเรียกว่าดาวน์ไลน์ เมื่อเครือข่ายขยายใหญ่มากเท่าไหร่รายได้ของอัพไลน์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

Passive Income: น้ำตาลไอซิ่งของธุรกิจ MLM

เชื่อว่าทุกคนคงเคยคิดอยากอยู่เฉยๆ แต่ก็มีเงินใช้แน่ๆ ไม่ว่าจะมาจากมรดก บำนาญ หรือจากธุรกิจส่วนตัว ซึ่งธุรกิจแบบ MLM นั้นมักจะโฆษณาจุดนี้เสมอ เมื่อหาดาวน์ไลน์ได้มากพอ คุณก็ไม่ต้องทำงานอีกเลย เป็นความฝันที่หวานเหมือนโรยน้ำตาลไอซิ่งสุดๆ

ตอนเป็นดาวน์ไลน์แรกๆ อาจจะลำบาก เพราะการเชิญชวนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่การมีสินค้าให้ขายไปพร้อมๆ กันก็ยังทำให้ใจชื้นได้อยู่ ซึ่งนั่นแม้จะเป็นโมเดลธุรกิจหลัก แต่การเติบโตในเครือข่ายกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า และการสถาปนาตัวเองให้กลายเป็นอัพไลน์คือเป้าหมายหลักของธุรกิจประเภทนี้

แต่ด้วยความที่มันดูดีมาก จนดูไม่เหมือนเรื่องจริง ก็เพราะว่ามันทั้งใช่และไม่ใช่ กล่าวคือโมเดลที่เหมือนเป็นแกนกลางของการทำธุรกิจแบบ MLM ก็คือเงินจากดาวน์ไลน์ที่ซื้อสินค้าหรือลงทุนนั่นแหละ คือรายได้ของเหล่าอัพไลน์ทั้งหลายเอาไปแบ่งๆ กัน ซึ่งรายได้ที่ไม่ได้มาจากการลงทุนหรือค้าขายจริงของธุรกิจ การันตีกำไรหรือรายได้สูงๆ ทำให้สุดท้ายแล้วคนที่ถูกชักชวน ก็เหมือนกับการถูกหลอกให้เอาเงินไปให้อัพไลน์นั่นเอง 

ต่างประเทศเรียกหลักการนี้ว่า “Ponzi Scheme” ตามชื่อของ ชาร์ลส์ พอนซี ต้นคิดหลักการนี้และนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1920 กับ “International Reply Coupon” คูปองที่ใช้จ่ายแทนแสตมป์ โดยใช้ความต่างจากราคาระหว่างประเทศ ให้คำมั่นว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน 50 เปอร์เซ็นต์ภายใน 45 วัน และ 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 เดือน จนบริษัทของเขามีเงินหมุนเวียนกว่า 250 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเพียง 9 เดือน

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจสอบบัญชีพบว่า พอนซีไม่ได้นำเงินไปลงทุนในบริษัทของตนเลย จึงถือเป็นต้นกำเนิดของ “แชร์ลูกโซ่” และสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ต่างแค่ Product ที่อิงตามกระแสความนิยมของโลก ณ ขณะนั้น มาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความโลภจากการลงทุนที่เกินจริง

ชาร์ลส์ พอนซี ชาวอิตาเลียน ผู้คิดคนหลักการแชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่ผิดกฎหมายอย่างไร

การแชร์ลูกโซ่มีความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ 5 มาตรา ดังนี้

พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

มาตรา 4 เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยให้ชักชวนลงทุน โดยนำเงินหรือทรัพย์สิน และให้ไปชักชวนให้นำเงินมาลงทุนต่ไปเรื่อยๆ ต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง โดยผู้หลอกลวงมิได้นำเงินทีไ่ด้มาไปประกอบธุรกิที่ถูกกฎหมาย เพียงแต่นำเงินที่ได้มาจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนรายเก่า

มาตรา 5 เป็นความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนฯ ตามลักษณะของมาตรา 4 

มาตรา 12 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาทียังฝ่าฝืนอยู่

ประมวลกฎหมายอาญา 

(ความผิดฐานฉ้อโกง)

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิข้อความจริงซึ่่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน)

มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความมจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ปราชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใด ผผู้กระทำต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

Previous Post
Next Post