ฝนที่ตกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในช่วงนี้ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเปียก เดี๋ยวชื้น ยิ่งเข้าช่วงฤดูฝนอย่างจริงจังด้วย ก็ยิ่งทำให้ส่งผลต่อสุขภาพ และสิ่งที่แแอบแฝงและแถมมาด้วย คือ โรคติดต่อหน้าฝน ที่อันตรายไม่น้อยเลย โรคที่มากับฝนที่ต้องระวังมีอะไรบ้าง
1. กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร
กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบได้บ่อย คือ อาหารเป็นพิษ บิด อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตับอักเสบ เป็นต้น โดยสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อจุลชีพปนเปื้อน ส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้
วิธีป้องกัน : ต้องระวังเรื่องการกินเป็นพิเศษ ไม่รับประทานอาหารดิบหรือกึ่งดิบ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น
2. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
โรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างปอดบวม ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ มักจะพบเจอกันมากในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน เพราะสภาพอากาศเอื้อต่อเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ให้เติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งช่วงนี้มีเรื่องของโรคระบาดอื่นๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โควิด-19 ยิ่งต้องระวังให้เป็นพิเศษ เพราะสามารถติดโรคต่อกันได้ง่ายมาก ด้วยละอองฝอยน้ำลายเพียงแค่ ไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อ อย่าง น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย ก็ติดโรคและป่วยได้แล้ว
วิธีป้องกัน : สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนแออัด สำหรับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยเสมอ เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อโรค ยิ่งถ้ามีอาการไอ จาม ร่วม ยิ่งต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส ตา จมูก ปาก และบริเวณใบหน้า
3. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง
โรคแลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เรียกว่าเป็นโรคประจำฤดูกาลก็ว่าได้ เนื่องจากสาเหตุมาจากการสัมผัสน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน โดยเฉพาะในน้ำขัง หรือน้ำเสียในท่อระบายน้ำ เพราะมักจะปนเปื้อนไปด้วยสิ่งปฏิกูล ทั้งจากคนและสัตว์ โดยกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ ชาวเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ที่อาศัยในพื้นที่มีน้ำท่วม หรือแอ่งน้ำขัง ต้องเดินลุยน้ำ พนักงานขุดท่อระบายน้ำ
โดยอาการของโรคฉี่หนูที่ควรสังเกต คือ เมื่อได้รับเชื้อประมาณ 1-3 สัปดาห์ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ตาแดง คอแข็งสลับกับไข้ลด ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขา และเท้า อย่างรุนแรง ที่เพดานปากอาจมีเลือดออก หรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง หากอาการรุนแรงอาจตับวายหรือไตวายได้
วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำสกปรก หรือสวมรองเท้าบูทยาวก่อนลุยน้ำ หากไม่ได้ใส่ให้รีบล้างเท้า ล้างมือให้สะอาดหลังลุยน้ำเสร็จ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ และไม่ควรลงน้ำ หรือว่ายน้ำที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
4. กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
ยุงหน้าฝนที่เป็นพาหะนำโรคเหล่านี้มาสู่มนุษย์ได้ จึงต้องระวังให้มากในช่วงนี้ ได้แก่
- โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจากยุงลายตามมุมอับต่างๆ ภายในบ้าน
วิธีป้องกัน : พยายามอย่าให้มีแหล่งน้ำขัง ปิดฝาภาชนะที่กักเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้
- โรคไข้มาลาเรีย คือ โรคติดต่อจากยุงก้นปล่อง เป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย อาการของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย จะมีไข้สูง ซีด หนาวสั่น มีจุดเม็ดเลือดแตก ปอดผิดปกติ ตับอักเสบ ไตวาย และอาจรุนแรงถึงขั้นมาลาเรียขึ้นสมองได้
วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงเดินป่าในหน้าฝน หรือไปอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งป่า ต้นไม้ทึบ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกยุงก้นปล่องกัด
- โรคไข้สมองอักเสบ เจอี คือ โรคไข้สมองอักเสบที่มี ยุงรำคาญ เป็นพาหะ มักจะแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน จากนั้นจะเซื่องซึม และอาจชักได้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งทำการรักษาให้เร็วที่สุด
วิธีป้องกัน : ติดม่านกันยุง ใช้อุปกรณ์ป้องกันยุง เช่น โลชั่นหรือสเปรย์กันยุง กางมุ้งนอนหากมียุงรำคาญแพร่พันธุ์ในบริเวณที่อยู่อาศัย
5. โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก มักจะพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยเชื้อไวรัสที่เจริญเติบโตในลำไส้ อย่าง คอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส และมักจะแพร่เชื้อระบาดได้อย่างรวดเร็วในสภาพอากาศเย็นและชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โดยการแพร่เชื้อเกิดจากเชื้อไวรัสติดมากับมือ ของเล่น สิ่งของ ที่มีการเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำหนองจากตุ่มแผล แล้วไม่มีการล้างทำความสะอาดให้ดี ทำให้เด็กได้รับเชื้อและป่วยในที่สุด
วิธีป้องกัน : ผู้ปกครองจึงควรระวังและใส่ใจความสะอาดของบุตรหลาน ที่อยู่ในช่วงวัยเด็กเล็กให้เป็นพิเศษ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นสอนให้เด็กล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดบ่อยๆ ตัดเล็บเด็กให้สั้น เพื่อป้องกันเชื้อโรคและคราบสกปรกติดมาในซอกเล็บ ที่อาจทำความสะอาดได้ยากกว่าปกติ