ทำไมจึงเกิดฟ้าผ่าและจะป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าอย่างไรเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง 

ฟ้าผ่า สาเหตุเกิดจากอะไร 

ฟ้าผ่า คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนหรือเมื่อมีพายุ ซึ่งการเกิดฟ้าผ่ามาจากก้อนเมฆคิวมูโลนิมบัส หรือ Cumulonimbus คือ เมฆฝนขนาดใหญ่ที่มีมวลน้ำมหาศาลอยู่ภายใน เกิดการหมุนวนเร็วและแรงของกระแสอากาศจนทำให้เกิดการเสียดสีของมวลน้ำ กลายเป็นประจุอิเล็กตรอน และเกิดสนามไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยมีประจุบวก (+) อยู่ด้านบนก้อนเมฆ และ ประจุลบ (-) อยู่ตรงฐานหรือด้านล่างก้อนเมฆ เมื่อมีการเคลื่อนที่ระหว่างประจุบวกและประจุลบเข้าหากัน โดยอาจเกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนภายในก้อนเมฆ ระหว่างก้อนเมฆ หรือระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ ฟ้าผ่า นั่นเอง 

ฟ้าผ่ามีกี่แบบ 

ประเภทของการเกิดฟ้าผ่า แบ่งได้ 4 แบบ ด้วยกัน 

  1. ฟ้าผ่าในก้อนเมฆ คือ การเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนที่ต่างขั้วเกิดการเหนี่ยวนำภายในก้อนเมฆเดียวกัน โดยประจุลบด้านล่างกระโดดไปยังประจุบวกด้านบน ทำให้เกิดฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ และมีแสงสว่างเกิดขึ้น เรียกว่า “ฟ้าแลบ” 

  1. ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ คือ การเหนี่ยวนำของอิเล็กตรอนต่างขั้วระหว่างก้อนเมฆ โดยประจุลบของก้อนเมฆหนึ่งกระโดดไปยังประจุบวกอีกก้อนหนึ่ง ทำให้เราเห็นสายฟ้าวิ่งข้ามระหว่างก้อนเมฆ เป็นอีกปรากฏการณ์ของ ฟ้าแลบ 

  1. ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้นโลก คือ การที่ก้อนเมฆลอยไปยังบริเวณพื้นดินหรือวัสดุที่มีประจุบวก ทำให้ประจุลบที่อยู่ตรงฐานเมฆกระโดดลงไปยังประจุบวกบนพื้นผิวดินหรือวัสดุนั้น ๆ เกิด ฟ้าผ่า เช่น  ฟ้าผ่าลงดิน ฟ้าผ่าต้นไม้ เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ (-)

  1. ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น คือ ก้อนเมฆลอยต่ำยังพื้นผิวดิน ประจุลบบนพื้นดินถูกเหนี่ยวนำเข้าหาประจุบวกในก้อนเมฆ มองเห็นสายฟ้าพื้นดินขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นฟ้าผ่าแบบบวก (+)

Rights: © Copyright 2014. University of Waikato. All Rights Reserved.

เหตุการณ์ฟ้าผ่า ผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตโดยตรง 

เมื่อก้อนเมฆอยู่ใกล้พื้นดินมากกว่าเมฆก้อนอื่น ทำให้ประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆกระโดดลงไปยังพื้นดิน โดยขณะที่เกิดฟ้าผ่า จะมีกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นอันตรายมาก 

ฟ้าผ่าอะไรได้บ้าง : ฟ้าผ่าคน ฟ้าผ่าสัตว์ หรือแม้แต่ฟ้าผ่าสิ่งของ อย่างฟ้าผ่าต้นไม้ เกิดจาก ฟ้าผ่าแบบลบ และ ฟ้าผ่าแบบบวก  

  1. ฟ้าผ่าแบบบวก สามารถผ่าออกไปได้ไกลถึง 40 กิโลเมตร ภายในเพียง 1 วินาที ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในหลังจากที่ฝนเริ่มซา หรือฝนเริ่มทิ้งช่วงแล้ว 

  1. ฟ้าผ่าแบบลบ จะผ่าลงใต้เงาของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก เนื่องจากพื้นล่างใต้ฐานเมฆมีถูกเหนี่ยวนำให้มีสภาวะของประจุบวก (+) 

ประโยชน์ของฟ้าผ่า 

ฟ้าผ่าไม่ได้มีเพียงแค่โทษหรืออันตรายเท่านั้น แต่ฟ้าผ่ามีประโยชน์ต่อภาคการเกษตรเช่นกัน โดยเมื่อเกิดฟ้าแลบฟ้าผ่าจะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน เพราะพลังงานบางส่วนที่เกิดจากฟ้าแลบฟ้าผ่า จะทำให้ไนโตรเจนทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารประกอบไนตริกออกไซต์ และกลายไปเป็นไนโตรออกไซต์ เป็นสารที่สามารถละลายได้ดีในน้ำฝน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกรดดินประสิวตกลงมายังพื้นโลก แล้วไปรวมกับสารอื่น ๆ บนพื้นผิวโลกจนกลายเป็นแคลเซียมไนเตรท ซึ่งเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับพืช เรียกได้ว่า นอกจากดินจะชุ่มฉ่ำจากสายฝนแล้ว ยังได้ปุ๋ยให้กับพืชต่าง ๆ จากการเกิดฟ้าผ่าฟ้าแลบอีกด้วย 

เมื่อเกิดฟ้าผ่า ป้องกันอย่างไรได้บ้าง 

  1. หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง แล้วจู่ ๆ ขนลุกหรือผมตั้งชัน โดยไม่มีสาเหตุ ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าจะเกิดฟ้าผ่า ให้รีบวิ่งออกจากบริเวณนั้น ไปยังในที่ปลอดภัย เช่น เข้าไปหลบในอาคารขนาดใหญ่ ห้ามอยู่ใกล้ผนังอาคาร หน้าต่าง และประตู  หรือเข้าไปหลบในรถยนต์โดยปิดประตูรถและกระจกให้มิดชิด โดยนั่งกอดออกหรือวางมือบนตัก ห้ามแตะหรือสัมผัสตัวถังรถ หรือวัสดุที่เป็นโลหะเด็ดขาด 

  1. กรณีหาที่หลบไม่ทัน หรือหาที่หลบไม่ได้ ให้นั่งยองต่ำ เท้าชิด เขย่งปลายเท้า ซุกศีรษะเข้าระหว่างเข่า แขนแนบศีรษะ มือปิดหูป้องกันเสียงดังจากฟ้าร้องฟ้าผ่า ใช้เท้าสัมผัสพื้นดินให้น้อยที่สุด ห้ามกางขาห่างออกจากกัน ห้ามพิงวัตถุใด ๆ ห้ามนอนหมอบหรือใช้อวัยวะเท้ายันกับพื้นเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าอาจวิ่งมาตามพื้น ควรให้ร่างกายสัมผัสพื้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

  1. ห้ามยืนหลบใต้ต้นไม้ บริเวณใกล้ต้นไม้ ใกล้สิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณา สิ่งแขวน และอาคารสูงหรือที่สูง 

  1. ห้ามกางร่ม ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งขณะเกิดพรยุฝนฟ้าคะนอง เพราะมือถือมีส่วนประกอบของโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นตัวล่อฟ้า อาจทำให้ถูกฟ้าผ่าได้ 

  1. ห้ามใช้อินเทอร์เน็ตบ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ตขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่าลงเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือเสาอากาศนอกบ้าน และกระแสไฟอาจวิ่งไหลมาตามสาย ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานและทรัพย์สินเสียหาย ควรปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันไว้ดีที่สุด 

  1. ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีระบบป้องกันไฟกระชาก มีมาตรฐานและคุณภาพดี

  1. ถอดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดระหว่างที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด และอย่าอยู่ใกล้สายไฟหรือเสาไฟฟ้าแรงสูงขณะที่ฝนตก มีฟ้าแลบ ฟ้าผ่า 

  1. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ และห้ามแช่หรืออยู่ในน้ำ ให้รีบขึ้นจากน้ำ เพราะน้ำคือตัวนำไฟฟ้าชั้นดี 

Previous Post
Next Post