ยาหยดเห็บ หมัด อันตรายไหม คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้! 

ใครที่มีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ น้องหมา น้องแมว ทั้งหลาย จะมีปรสิตที่คอยรบกวนให้น่ารำคาญใจ และยังก่อให้เกิดโรคอันตรายกับสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรานั่นคือ “เห็บ” และ “หมัด” เจ้าของจึงมักจะเลือกใช้ยาหยดเห็บหมัด เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามเหล่านี้ออกไป ซึ่งยากำจัดเห็บหมัดที่จำหน่ายในปัจจุบันมีทั้งในรูปของยาหยดหลัง สเปรย์ ยาพ่น แชมพู และปลอกคอกันเห็บหมัด แต่ขณะเดียวกันส่วนประกอบในยาหยอดเห็บหมัดกว่าร้อยละ 90 เป็นสารเคมี ที่อาจมีผลข้างเคียงและเกิดโทษกับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ตัวเจ้าของด้วยเช่นกัน หากไม่รู้วิธีหยอดยาเห็บหมัดสุนัข หรือใช้หยอดยาเห็บหมัดแมวเกินขนาด วันนี้เราจะมาชวนเพื่อน ๆ ทำความรู้จักกับภัยของยากำจัดเห็บหมัดว่ามีสารพิษอะไรบ้าง และมีอาการอย่างไรเมื่อได้รับสารพิษ เพื่อจะได้นำไปสังเกตความผิดปกติของสัตว์เลี้ยงและช่วยชีวิตพวกเขาได้ทันท่วงที 

1. ไอเวอร์เมกตินและอนุพันธ์ 

กลุ่มยากำจัดเห็บหมัดที่นิยมใช้กันมากที่สุดในไทย มีทั้งในรูปแบบยาแก้เห็บหมัดแบบกิน ป้ายปาก หยอดหลัง และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง นอกจากใช้ในเรื่องของเห็บหมัดแล้ว ยังใช้เพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย แต่มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้เช่นกัน โดยเฉพาะ ยาไอเวอร์เมกติน ห้ามใช้กับน้องหมาสายพันธุ์ที่ไวต่อพิษเด็ดขาด ได้แก่ ออสเตรเลียน เชพเพิร์ด (Australian Shepherd) เชตแลนด์ ชีพด็อก (Shetland Sheepdog) โอลด์ อิงลิช ชีพด็อก (Old English Sheepdog) คอลลี่ (Collie) รวมถึงน้องหมาพันธ์ุลูกผสมคอลลี่ แต่มีอนุพันธ์ของยากลุ่มนี้บางตัวที่สามารถใช้กับคอลลี่ได้ อนุพันธ์ที่มีจำหน่ายในขณะนี้ ได้แก่ ซีลาแมคติน มิลบีมายซิน โมซิเดกติน และ เอพริโนเมกติน 

หากใช้ไอเวอร์เมกตินเกินขนาด หรือใช้กับน้องหมาน้องแมวที่เด็กเกินไป (อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์) อาจทำให้น้องสุนัขแพ้ยาหยอดเห็บได้ 

อาการแพ้ยาเห็บหมัดไอเวอร์เมกติน : ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน น้ำลายไหลมาก รูม่านตาขยาย ตาบอด เดินเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก และรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

2. สารกลุ่มไพเรทริน และ ไรเรทรอยด์ 

ยากำจัดเห็บหมัดที่มีสารสกัดจากดอกไพเรทรัมธรรมชาติ ผลิตและจำหน่ายทั้งในรูปแบบของยาพ่น สเปรย์ ผสมน้ำอาบ แชมพู ปลอกคอกันเห็บหมัด และยาหยอดหลัง ที่มีส่วนประกอบสำคัญ เช่น และฟรูเมทริน 2.25% (Flumentrin) ฟรูเมทริน 6% ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมและกำจัดปรสิตภายนอกหมาแมว หรือ เพอร์เมทริน (Permethrin) ยากำจัดปรสิตภายนอกชนิดหนึ่งที่ใช้รักษากลุ่มโรคเหา (Head Lice)โรคหิด (Scabies) โลน (Pubic Lice) รวมถึงเห็บหมัด และอื่น ๆ 

การรับพิษจากยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่น้องหมา น้องแมวเลียขนหลังจากได้รับยา หรือเผลอกินเข้าไป และอาจจากทางผิวหนัง หรือไปคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่ได้รับยานี้เช่นกัน 

อาการแพ้ยาเห็บหมัดกลุ่มไพเรทรินและไรเรทรอยด์ : ซึม อาเจียน น้ำลายไหล ใบหูกระตุก หรือมีผื่นแดง และคัน ให้รีบล้างออกด้วยแชมพู น้ำอุ่น หรือ น้ำยาล้างจาน แต่ถ้าได้รับพิษยาปริมาณมาก จะทำให้น้องสุนัขแพ้ยาหยอดเห็บมีอาการเดินเซ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง รูม่านตาขยาย ชักกระตุก และอาจเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง 

3. สารกลุ่มออกาโนฟอสเฟต และ คาร์บาเมต 

ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่มีสารกลุ่มนี้เป็นส่วนประกอบ ถูกนำมาใช้ทั้งในรูปแบบ แชมพู สเปรย์ ยาพ่นตัว และ ปลอกคอกันเห็บหมัด โดยมีคุณสมบัติละลายในไขมัน ผลิตภัณฑ์บางชนิดมีการออกแบบให้สามารถค้างอยู่บนพื้นผิวได้ ทำให้มีการนำไปใช้เป็นยากำจัดศัตรูพืชในการเกษตร และใช้กำจัดแมลงต่าง ๆ ในครัวเรือน 

การได้รับพิษของสารกลุ่มนี้จะผ่านทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ จากนั้นพิษจะกระจายทั่วร่างกาย โดยละลายในไขมัน แล้วถูกขับพิษทิ้งทางปัสสาวะ น้องหมา น้องแมว ที่ได้รับสารพิษ อาจแสดงอาการภายใน 10 นาทีหลังที่ได้รับพิษ ซึ่งระยะเวลาแสดงอาการออกมาให้เห็น ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณและช่องทางที่ได้รับพิษ (บางรายอาจพบอาการใน 3-7 วัน) 

อาการแพ้ยาเห็บหมัด สารกลุ่มออกาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต : ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหล น้ำตาไหล อาเจียน ไอ หายใจลำบาก รูม่านตาหรี่ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง ชัก อาจเป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน 

4. อะมิทราช

อะมิทราช (Amitraz) เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลง นิยมใช้ในการกำจัดไร แต่สามารถใช้กำจัดเห็บหมัดได้ด้วยเช่นกัน โดยจะต้องผสมให้ได้สารละลายขนาด 250 ppm แล้วจึงนำไปใช้พ่น อาบ หรือ เช็ดตัวให้น้องหมา แต่มีผู้ผลิตบางรายมีจำหน่ายในรูปแบบของปลอกคอกันเห็บหมัด  

หากได้รับพิษจากอะมิทราช จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะสารพิษจะไปยับยั้งการหลั่งของอินซูลิน จึงไม่เหมาะที่จะนำยากลุ่มอะมิทราชใช้กับน้องหมาโรคเบาหวาน รวมไปถึง น้องหมาที่มีอายุต่ำกว่า 4 เดือน 

อาการแพ้ยาเห็บหมัดอะมิทราช : ซึม ง่วง อาเจียน เดินเซ อุณหภูมิร่างกายต่ำ ตัวเย็นกว่าปกติ รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นช้า ชัก และ อาจเสียชีวิตได้  

การป้องกันพิษจากยากำจัดเห็บหมัดในเบื้องต้นทำได้ไม่ยาก หากทำดังต่อไปนี้ 

“ศึกษา”วิธีใช้ยาหยดเห็บหมัดแมวและสุนัขจากฉลากยาให้ละเอียดก่อนทุกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจในการใช้หยอดยาเห็บหมัดแมวทุกกี่เดือน ควรใช้ปริมาณเท่าไร ข้อบ่งใช้ และข้อควรระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียง หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ 

หากอ่านเอกสารกำกับยาแล้วไม่เข้าใจ ควร “สอบถาม”ข้อมูลจากสัตว์แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ละเอียด ก่อนนำยามาใช้ อย่าใช้จากการบอกเล่าแบบปากต่อปาก โดยเฉพาะยากำจัดเห็บหมัดที่ไม่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะปัจจุบันมียากำจัดเห็บหมัดไม่มีคุณภาพ เป็นยาฆ่าหมัดเถื่อน อาจมีผลต่อสัตว์เลี้ยงให้พิการหรือเสียชีวิตได้  

“สวมใส่”ถุงมือและหน้ากากก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่ยากำจัดเห็บหมัดมีส่วนประกอบเป็นสารเคมี อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังและระบบทางเดินหายใจได้ และควรสวมปลอกคอกันเลียหรือสวมเสื้อให้กับสัตว์เลี้ยงหลังจากได้รับยา เพื่อป้องกันการเลียรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกาย 

หลีกเลี่ยงการ“สัมผัส”โดยตรงกับสัตว์เลี้ยงที่เพิ่งผ่านการได้รับยา ไม่ว่าจะเป็นการจับ การอุ้ม การลูบคลำ แต่ถ้าเผลอไปสัมผัส ให้รีบล้างมือทันที และอย่าลืมเก็บยากำจัดเห็บหมัดทุกชนิดให้พ้นมือเด็ก เก็บให้ห่างจากอาหาร และเก็บแยกจากยาชนิดอื่น ๆ 

หมั่น “สังเกต”อาการสัตว์เลี้ยงหลังได้รับยา มีอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากผลข้างเคียง หรือเป็นการแพ้ยาหรือไม่ ถ้ามีอาการที่ไม่น่าไว้ใจและสุ่มเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อน้องหมา หากรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสัตว์เลี้ยง ควรทำอย่างรวดเร็วและรีบนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ทันที แต่ถ้าไม่รู้ขั้นตอนใด ๆ ต้องรีบนำสัตว์เลี้ยงส่งให้ถึงมือสัตว์แพทย์ให้เร็วที่สุด 

Previous Post
Next Post