รู้หรือไม่ หลักการปั๊มหัวใจและการผายปอดช่วยชีวิตคน นำมาใช้ช่วยชีวิตแมวให้รอดตายได้เช่นกัน
สำหรับใครที่เป็นทาสแมวหรือเลี้ยงแมวเป็นสมาชิกอยู่ในบ้าน เมื่อเจอสถานการณ์น้องแมวไม่หายใจเพราะถูกไฟดูด แมวถูกรถชน หรือแมวตกน้ำแล้วหยุดหายใจ หากเราอยู่ลำพัง ไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย ให้ตั้งสติแล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ตรวจดูว่ามีอะไรคาหรือค้างอยู่ภายในช่องปาก และจมูกน้องแมวบ้าง เช่น เศษอาหาร ของเล่น น้ำมูก ฯลฯ หากพบว่ามี ให้นำออกให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้ไปอุดตัน หรือขัดขวางทางเดินหายใจ ซึ่งอาจใช้วิธียกขาหลังน้องเหมียวขึ้น โดยให้ห้อยหัวลงแล้วสั่นประมาณ 3-4 ครั้ง หรือจัดท่าให้แมวนอนตะแคงข้างบนพื้นราบ จากนั้นใช้คีบหนีบหรือเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกไป
2. จัดท่านอนน้องแมวให้นอนตะแคงโดยเอาด้านขวาลง แล้วดันหัวให้หงายไปด้านหลัง และใช้มือประคองจับปากแมวให้หุบอยู่ภายในอุ้งมือ
3. ใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ ที่ลมสามารถพัดผ่านได้ คลุมบริเวณจมูกแมว
4. ทำการช่วยหายใจให้แมวด้วย “ปากต่อจมูก” (กรณีช่วยคน คือ ปากต่อปาก ) ด้วยการประกบปากลงบนผ้าที่คลุมจมูกน้องแมว แล้วเป่าลมหายใจสั้น ๆ เข้าไป ประมาณ 4-6 ครั้ง แต่สำหรับวิธีช่วยชีวิตลูกแมว ควรเป่าเบา ๆ เพราะปอดยังเล็ก ข้อสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ ปากน้องแมวจะต้องหุบสนิทตลอดเวลา
5. หากน้องแมวเริ่มกลับมาหายใจได้เอง ให้หยุดการช่วยเหลือ แต่ยังคงคอยสังเกตอาการน้องเหมียวก่อนส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสัตว์ แต่ถ้าน้องแมวยังไม่สามารถหายใจได้เอง จะยังต้องช่วยต่อ ด้วย ปากต่อจมูก ในอัตรา 1 ครั้ง / ทุก ๆ 2-3 วินาที หรือ 20-30 ครั้ง / วินาที
6. ทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าแมวหายใจได้เอง แล้วส่งตัวไปให้ถึงมือสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
7. หากช่วยเป่าจมูกเกิน 10 นาที แต่ยังไม่มีทีท่าว่าน้องแมวจะกลับมาหายใจ ให้สังเกตเหงือกและลิ้นแมวเป็นสีน้ำเงินหรือเขียวคล้ำหรือไม่ ม่านตาขยายเบิกโพลง ไม่มีแม้แต่จะกระพริบตาเมื่อทำการกระตุ้นเปลือกตา อาจเป็นไปได้ว่า ไม่สามารถช่วยเหลือน้องแมวได้แล้ว ให้หยุดการช่วยหายใจ
หากมีคนช่วยมากกว่า 1 คน อาจทำการเป่าลมหายใจ และ การทำ CPR แมว สลับกันไป แต่ต้องมั่นใจว่าคุณรู้วิธีการทำ CPR ช่วยชีวิตอย่างถูกต้อง เพราะอาจส่งผลต่อโครงสร้างน้องแมว หรือทำให้น้องเหมียวบาดเจ็บจากแรงกดของเราได้
วิธีการปั๊มหัวใจแมว
1. จับน้องแมวนอนบนพื้นราบ จัดท่าให้นอนตะแคงข้าง โดยเอาด้านขวาลงพื้น ซึ่งเราจะอยู่ด้านข้างน้องแมว
2. ควานหาสิ่งแปลกปลอมในปากน้องแมว และนำออกให้หมดเพื่อไม่ให้ปิดช่องทางเดินหายใจ
3. ดึงลิ้นน้องแมวให้อยู่แนวตรงกลางปาก แล้วดันเก็บเข้าไปและปิดปากน้องแมวให้แน่น เพื่อกันลมรั่ว
4.ใช้ฝ่ามือวางลงบนซี่โครงใกล้ตำแหน่งหัวใจ แล้วนำฝ่ามืออีกข้างประกบตามลงไป
5. ค่อย ๆ ใช้น้ำหนักกดฝ่ามือลงบนซี่โครงเบา ๆ โดยกดในอัตรา 80 ครั้ง / นาที โดยห้ามเอาข้อศอกกดโดนอกน้องแมวเด็ดขาด
6. ปิดปากน้องเหมียวให้สนิท เป่าลมเข้าทางจมูกด้านหนึ่ง และปิดอีกด้านไว้ โดยเราจะเป่าลมเข้าจมูกน้องแมวแค่เพียงข้างเดียว และการเป่าลม 1 ครั้ง / การปั๊มหัวใจแมว 5 ที แต่ถ้ามีคนช่วยทำ CPR แมว มากกว่า 1 คน ให้เราเป่าลม 1 ครั้ง ต่อการนวด 2-3 ครั้ง
7. ทำ CPR ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้องแมวจะกลับมาหายใจได้เอง
รู้ได้อย่างไร เมื่อไรต้องทำ CPR แมว
1.การหายใจ (Breathing)
- ใช้หลังมือเช็คที่จมูกเหมียวมีลมออกมาไหม ช่องอกมีการขยับไหม
- หากพบว่าแมวไม่หายใจ ให้รีบเช็คว่ามีอะไรอุดตันหรือกีดขวางทางเดินหายใจหรือไม่ ดึงลิ้นแมวออกจากปากให้ยาวที่สุด เพื่อให้สารคัดหลั่ง อาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมออกจากปาก
2. ชีพจร (Pulse)
- จับชีพจรแมว ที่ femoral pulse ซึ่งจะอยู่ด้านในต้นขาทั้งสองข้างของน้องแมว และเป็นจุดที่เด่นที่สุด โดยวิธีการจับชีพจรแมว คือ ใช้นิ้วชี้ กับ นิ้วกลาง วางทาบลงไป จะรู้สึกได้ถึงการเต้นของหัวใจน้องแมว ตุบ ๆ แต่ถ้าจับบริเวณนี้แล้วไม่เจอชีพจร ให้เปลี่ยนไปที่ metacarpal area บริเวณใกล้ฝ่าเท้าขาหน้าทั้งสองข้างของน้องเหมียว หรือวางมือทาบบนอกน้องแมวโดยตรงไปเลยก็ได้
- หากพบว่าน้องแมวยังมีชีพจร แต่ไม่หายใจ ให้รีบทำ CPR และช่วยให้ลมหายใจ (ปากต่อจมูก) โดยด่วน
หมายเหตุ การช่วยหายใจด้วยการ ใช้ปากเป่าจมูกแมว ควรใช้กับแมวที่เลี้ยงด้วยตนเอง หรือรู้ประวัติแมวได้รับวัคซีนครบถ้วน เพราะถ้าใช้วิธีนี้กับแมวทั่วไปที่ไม่รู้ประวัติที่มาที่ไหน อาจทำให้เสี่ยงต่อเชื้อโรคต่าง ๆ หรือได้รับเชื้ออันตราย อาทิเช่น โรคพิษสุนัขบ้า เชื้อราแมว ฯลฯ ได้ เพราะการช่วยเหลือชีวิตก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยเช่นกัน