เครื่องดักยุง ถือว่าเป็นอุปกรณ์กำจัดยุงชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะ “เครื่องดักยุงไฟฟ้า” ยิ่งในฤดูฝนเป็นช่วงที่มียุงชุกชุม พาหะนำโรคร้ายมาพร้อมกับหน้าฝน เป็นสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้น การกำจัดยุงร้ายทุกวิถีทางจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการใช้กับดักยุงอาจเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์ได้ดี แต่เครื่องดักยุงใช้ได้จริงไหม เครื่องดักยุงมีกี่แบบ และซื้อแบบไหนใช้งานอย่างไร ไปทำความรู้จักกับเครื่องกำจัดยุงที่ว่านี้ ไว้พิจารณาในการเลือกใช้งานกันหน่อยดีกว่าค่ะ
เครื่องดักยุงมีหลักการทำงานอย่างไร
หลักการทำงานของเครื่องดักยุง คือ การปล่อยสารเคมีบางอย่างที่มีคลื่นคล้ายกับลักษณะของสัตว์เลือดอุ่นออกมา เพื่อดึงดูดหลอกล่อยุงและแมลงต่าง ๆ ให้บินเข้าไปติดกับดัก ก่อนจะโดนช็อตตายอยู่ในเครื่องดักยุง ไม่สามารถบินออกมาทำร้ายสมาชิกในบ้านได้อีก
เครื่องดักยุงมีกี่ประเภท
เครื่องดักยุงแบ่งออกได้ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
1. เครื่องดักยุงใช้แสงและความร้อน
เครื่องดักยุงประเภทใช้แสงและความร้อน ทำหน้าที่ในการเลียนแบบอุณหภูมิร่างกายสัตว์เลือดอุ่น เพื่อหลอกล่อและดึงดูดยุง รวมไปถึงแมลงต่าง ๆ ให้บินเข้ามาใกล้ โดยจะมีหลอดไฟ UV เคลือบไทเทเนียมไดออกไซด์ ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแสงอัลตร้าไวโอเลตจากหลอดไฟเป็นตัวคอยดึงดูด จากนั้น พัดลมในเครื่องจะดูดเอายุงและแมลงเข้าไป และกำจัดหรือฆ่าจนสิ้นซาก ซึ่งอุปกรณ์กำจัดยุงชนิดนี้จสามารถใช้ได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่จะมีพลังงานน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ
2. เครื่องดักยุงไฟฟ้าช็อต
เครื่องดักยุงไฟฟ้า เป็นรูปแบบการใช้ไฟฟ้าช็อตยุงให้ตาย โดยภายในอุปกรณ์จะมีกำลังไฟฟ้าประมาณ 110 โวลต์ , 220 โวลต์ ไปจนถึง 2000 โวลต์ มีหลากหลายขนาดกำลังไฟฟ้าให้เลือก ส่วนหลักการทำงานของเครื่องดักยุงไฟฟ้าช็อต คือ แสงจากหลอดไฟในเครื่องจะทำหน้าที่หลอกล่อให้แมลงขนาดเล็กต่าง ๆ บินเข้าไปในตะแกรงลวด จากนั้นไฟ UV จะช็อตแมลงเหล่านั้นทันที ด้วยวิธีการทำงานแบบนี้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้งาน เพราะนอกจากเครื่องดักยุงจะช็อตแมลงขนาดเล็กแล้ว มันยังสามารถช็อตคนและอาจทำอันตรายต่อชีวิตได้ด้วย
3. เครื่องดักยุงโพรเพน
เครื่องดักยุงแบบโพรเพน เป็นเครื่องดักยุงที่สามารถช่วยควบคุมประชากรยุงได้ได้ เหมาะกับการใช้งานกลางแจ้ง เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องดักยุงชนิดโพรเพน จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคล้ายกับลมหายใจออกของมนุษย์ออกมา หลอกล่อให้ยุงหลงบินเข้าไปใกล้ ก่อนจะถูกดูดเข้าไปในเครื่องด้วยระบบสูญญากาศ และไม่สามารถบินออกมาได้อีก ซึ่งเครื่องดักยุงโพรเพนมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง แต่มีราคาแพง และต้องใช้อย่างระมัดระวังมาก ๆ เพราะสารโพรเพนคือสารไวไฟสูงเช่นกัน
เลือกซื้อเครื่องดักยุงแบบไหนดี
สำหรับใครที่ลังเลจะซื้อเครื่องดักยุงในร่ม หรือ เครื่องดักยุงกลางแจ้งดีกว่า ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยุงมีความไวต่อความถี่แสง การตรวจจับความร้อนในสัตว์เลือดอุ่น นอกจากนี้ ยุงมีความไวต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออก รวมไปถึงสารเคมีที่ออกมาพร้อมกับเหงื่อของเรา ที่มีชื่อทางเคมีว่า Octanol อีกด้วย การเลือกใช้เครื่องดักยุง จึงต้องเลือกให้เหมาะกับการสถานที่ใช้งาน ดังนั้น เราจึงต้องรู้ก่อนว่า เครื่องดักยุงในร่มกับเครื่องดักยุงกลางแจ้งแตกต่างกันอย่างไร
1. เครื่องดักยุงในร่ม
- เครื่องดักยุงในร่มอาจไม่กันน้ำได้ดีเท่าที่ควร
- เครื่องดักยุงในร่มมีข้อจำกัดต่อการใช้งานในพื้นที่ปิด และมีจำนวนแมลงไม่มากนัก
- ระยะเวลาการทำงานของเครื่องดักยุงในร่มสั้นกว่า อาจทำงานได้ดีเพียงแค่ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นเพียงเล็กน้อย
- เครื่องดักยุงในร่มราคาถูก พกพาสะดวก มักใช้แสงหรือความร้อนเพื่อดึงดูดยุงและแมลงต่าง ๆ
- เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องใช้เครื่องดักยุงเปิดทิ้งไว้ในห้องหรือพื้นที่ต้องการ แต่เราจะต้องออกมาจากในห้องนั้น เพื่อไม่เป็นตัวล่อให้ยุงบินมาเกาะเราแทน
- เครื่องดักยุงในร่มไม่มีประสิทธิภาพในการทำดักจับยุงในที่เปิดโล่ง เช่น ห้องโถง ลานหน้าบ้าน หรือทางเดิน
2. เครื่องดักยุงกลางแจ้ง
- เครื่องดักยุงกลางแจ้ง มักจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อดึงดูดยุงและแมลงขนาดเล็ก
- เครื่องดักยุงกลางแจ้งช่วยลดจำนวนยุงตัวเมียในบริเวณที่ใช้งาน ลดอัตราการแพร่พันธุ์ยุงได้
- เครื่องดักยุงกลางแจ้งสามารถดึงดูดยุงและแมลงได้ในระยะไกล จึงสามารถใช้งานได้ในบริเวณ หรือพื้นที่ลานกว้าง หรือแม้แต่พื้นที่อาศัยใกล้แหล่งน้ำ
- ข้อเสียของเครื่องดักยุงกลางแจ้ง คือ ระยะเวลาเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจใช้ระยะเวลานาน อาจระหว่าง 5 – 6 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของอุปกรณ์ และจำนวนแมลงโดยรอบ ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกซื้อเครื่องดักยุงชนิดไหน ควรพิจารณาจากวัตถุประสงค์ และบริเวณพื้นที่ในการใช้งานเพื่อให้ได้ผลดี และเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐาน เลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพื่อความปลอดภัยในขณะใช้งานเครื่องดักยุงไฟฟ้านั่นเอง