รู้ไหมว่า “อาหาร” ที่เรากินในแต่ละมื้อนั้น มีส่วนในการทำให้ “โลกร้อน” Global Warmng
จากไวรัล ข้อสอบ TGAT 2022 ซึ่งเป็นข้อสอบของนักเรียนระดับมัธยมปลายปีที่ 6 กับคำถามที่ว่า
“เมนูใดต่อไปนี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนมากที่สุด”
- ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย
- ราดหน้าหมู
- สเต็กปลาแซลมอน
- สุกี้ทะเลรวมมิตร
หลังจากที่คำถามนี้กลายเป็นกระแสไวรัลบนโลกโซเซียล และได้เกิดประเด็นว่านี่คือข้อสอบของเด็กมัธยมจริงหรือ และมีการถกเถียงกันว่าจะตอบคำถามข้อไหนดี ถึงแม้ว่าคำถามข้อนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ตระหนักรู้และหันมาใส่ใจกับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับการลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน แต่คำตอบที่แท้จริงนั้นคือข้อไหนกันแน่ เราเองก็ให้คำตอบไม่ได้แน่ชัด แต่เราจะนำข้อสอบ TGAT ข้อนี้มาวิเคราะห์กันในบทความนี้ เผื่อใครจะได้คำตอบที่ใช่ที่สุดกันค่ะ
การตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการกระทำของมนุษย์
ก่อนอื่นเรามาดูถึงประเด็นหลักในการตั้งโจทย์ข้อนี้กันสักหน่อย ด้วยจุดประสงค์ของผู้ที่ตั้งคำถาม คือ การส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ว่ากิจกรรมในชีวิตแต่ละวันของเรานั้น ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างไรบ้าง ซึ่งแม้แต่อาหารที่เราเลือกกินก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องการให้ทุกคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ตามหลักเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อ 13-Climate Action ของสหประชาชาติ (SDG : Sustainable Development Goals)
ซึ่งหลายคนนั้นรู้ดีว่า ณ ขณะนี้โลกของเรากำลังเข้าขั้นวิกฤติ สภาพอากาศเลวร้ายมากที่ถ้าเปรียบโลกเป็นผู้ป่วย ก็เป็นผู้ป่วยที่ต้องแอมิดรพ.แต่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะโรคร้ายแรงหลายชนิดกำลังรุมเร้ากัดกินอวัยวะแทบไปทุกส่วน จนถึงขั้นมีอาการรุนแรงออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สภาพอากาศที่ไม่ตรงฤดูกาล น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุ คลื่นความร้อน หรือการมีหิมะตกในประเทศที่ไม่เคยมีหิมะมาก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพภูมอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) แม้ว่ามันจะเป็นอาการที่เคยมีมาบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้อาการต่าง ๆ เหล่านี้มันรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และต้นตอของอาการโคม่าของโลกใบนี้ ส่วนใหญ่มาจากการกระทำของพวกเราทุกคน
ภาวะโลกร้อนที่มีปัจจัยส่วนใหญ่มาจากมนุษย์
ภาวะโลกร้อน คือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมากจาก ภาวะเรือนกระจก หรือ Green house effect โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ส่งผลให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามักจะรู้กันดีถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งการจราจร ระบบการขนส่ง การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น เพราะมนุษย์มีส่วนในการเพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) อีกทั้งยังมีการตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาล สร้างพื้นที่อยู่อาศัย สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ หรือแม้แต่การทำการเกษตร หรือ ฟาร์มปศุสัตว์
แล้วทำไมอาหารที่เรากินกันในแต่ละมื้อ ถึงมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?
ก๊าซเรือนกระจกที่เราได้ยินกันคุ้นหู ไม่ได้มีเพียงแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่ก๊าซเรือนกระจก คือ ส่วนประกอบของก๊าซหลายชนิดเข้าด้วย ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญ 6 ชนิดที่เราควรช่วยกันลดปริมาณในการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูโรคาร์บอน (HFCS) ก๊าซเปอร์ฟลูโรคาร์บอน (CFCS) และ ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูโอไรด์ (SF6)
วัตถุดิบของอาหารที่เรากินกันในแต่ละมื้อย่อมมีแหล่งที่มา ก่อนจะมาเป็นอาหารในแต่ละจาน ในบริบทนี้เราจะขอพูดถึงที่มาของวัตถุดิบต่าง ๆ ตามในเมนูอาหารที่เป็นตัวเลือกในคำตอบของข้อสอบที่เรายกประเด็นมากันเป็นข้อ ๆ ด้วยการดูตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบและส่วนผสมหลักในแต่ละเมนู ดังนี้
1. ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย และ 2. ราดหน้าหมู
ขอยก 2 ข้อนี้มาด้วยกัน เนื่องจาก ไก่ และ หมู ที่เป็นวัตถุดิบหลัก ต่างก็เป็นสัตว์บก ซึ่งมักจะมาจากฟาร์ม หรือการทำปศุสัตว์ หากจะหาไก่แบบธรรมชาตินั้นแทบจะเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน โดยการทำฟาร์ม การเลี้ยงสัตว์นั้น ต้องเริ่มตั้งแต่
- ทำลายป่าเพื่อสร้างพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์
- การปล่อยก๊าซมีเทนของสัตว์ ทั้งในรูปของอุจจาระและการผายลม
- ระบบและรูปแบบในการทำปศุสัตว์
- การให้อาหาร
- การกำจัดของเสีย
ยิ่งสัตว์ในฟาร์มมีจำนวนมาก ยิ่งมีการปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน รวมไปถึงการเพาะเลี้ยง กรรมวิธีการให้อาหาร การใช้ไฟฟ้ากกสัตว์อ่อน ฯลฯ ทั้งสิ้นเปลืองการใช้พลังงาน และเพิ่มปริมาณก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพในการกักความร้อนได้มากและยาวนานกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า!
3. สเต็กปลาแซลมอน และ 4. สุกี้ทะเลรวมมิตร
สัตว์ทะเล มักจะมาจากแหล่งธรรมชาติ ทำให้มีการเกี่ยวข้องกับระบบการปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่าสัตว์บก ยกเว้นเสียว่าจะเป็นสัตว์ทะเลที่มาจากการเพาะเลี้ยง หรือต้องนำเข้าและเดินทางมาไกล เช่น ปลาแซลมอน ที่ไม่ว่าจะเป็นจากแหล่งธรรมชาติหรือการเพาะเลี้ยง แต่ก็เป็นสัตว์ท้องถิ่นที่ต้องมีการนำเข้า ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขนส่งนั่นเอง
เรามาดูในส่วนของ ข้าว , เส้นก๋วยเตี๋ยว , ผักต่าง ๆ และ เครื่องปรุง
เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกชนิดหรือแม้แต่วุ้นเส้น คือผลผลิตที่มาจากพืช เช่นเดียวกับ ข้าว และ พริกไทย และ ผักอื่น ๆ ก็อยู่ในส่วนของการเกษตรกรรม ต้องมีการทำลายป่าไม้เพื่อแปลงการเกษตร และต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการทำเกษตรกรรม ตั้งแต่ ดิน น้ำ ปุ๋ย และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น การใช้สารเคมี เครื่องจักรยนต์ รวมไปถึงแรงงานคน จนกระทั่งการเก็บเกี่ยว การขนส่ง การปรุงอาหาร ที่ต้องใช้ไฟ ใช้แก๊ส ที่ล้วนแต่มีการปล่อยก๊าซเรือนกกระจกทุกขั้นตอน และ “เครื่องปรุง” ที่มีทั้งผลิตจากพืชและเนื้อสัตว์ ที่ยิ่งผ่านกรรมวิธีมากเท่าไร ก็ยิ่งมีการใช้พลังงานมากเช่นกัน และในทุกกระบวนการย่อมมีการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ใครพอจะมีความชัดเจนในคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดแล้วบ้าง? และพอจะช่วยให้นึกย้อนบ้างไหมคะ ว่าในแต่ละวันเราได้มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปมากเท่าไร เราได้มีส่วนในการทำร้ายโลกนี้จนเกิดภาวะโลกร้อน จนโลกได้ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของพวกเราเองทั้งนั้นเลยค่ะ
สรุป
การช่วยบริบาลโลกของเรา นอกจากจะเน้นกิจกรรมในชีวิตประจำวันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดพลังงานด้วยการเดินทางโดยสารขนส่งสาธารณะ การไม่วิ่งตามแฟชั่นจนมากเกินไป (อุตสาหกรรมสิ่งทอและการผลิตต่าง ๆ ) การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นอีกปัจจัยในการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน หากพิจารณาจากข้อสอบดังกล่าว จะเห็นได้ว่าต้องการกระตุ้นและปลูกฝังให้เยาวชนที่เป็นคลื่นลูกใหม่ของโลกได้มีพื้นฐานความรู้ของการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเริ่มต้นที่ตนเองด้วยวิธีง่าย ๆ
ตั้งแต่การเลือกทานอาหารจากแหล่งผลิตในท้องถิ่น และการบริโภคอย่างพอเหมาะ เพื่อจะได้ลดปริมาณขยะเศษอาหาร (food waste) จนไม่ก่อให้เกิดวิกฤติอาหารโลกต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงไปจนถึงอนาคตของโลก แต่ไม่ว่าคำตอบคือข้อไหนที่ถูกต้องที่สุด จนอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งกันไม่สิ้นสุด แต่นั่นก็ไม่สำคัญไปกว่า การที่ทุกคนเล็งเห็นถึงจุดประสงค์หลักในการตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมา ทำให้เกิดประเด็นจนหลายคนต้องหยุดคิดถามตัวเอง ว่าอาหารจานโปรดปรานของเรา หรืออาหารในแต่ละมื้อที่เรากินกันนั้น มีส่วนในการทำร้ายโลกของเรามากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยก็ช่วยให้หลายคนหันมาสะดุด คิดหาคำตอบ ซึ่งอาจช่วยให้เพิ่มการตระหนักรู้และหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น แม้จะสายไปบ้างแต่ดีกว่าไม่เริ่มต้นอะไรเลย จนโลกใบนี้เกินจะเยียวยา เมื่อโลกอยู่ไม่ได้ แล้วสิ่งมีชีวิตชนิดใดอยู่ได้บ้าง?