ระวัง!! อาหารที่เราซื้อมาทานกันอยู่ทุกวันนี้ มักจะมีสารฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายจนเสียชีวิตได้ ซึ่งสารเคมีที่นิยมใช้ในทางการเกษตรขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต
สารออร์กาโนฟอสเฟตคืออะไร
สารออร์กาโนฟอสเฟต ภาษาอังกฤษ คือ Organophosphate เป็นสารเอสเทอร์ (Eater) ของกรดฟอสฟอริค (Phosphoric acid) เป็นกลุ่มสารฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายของภาคเกษตรกรรมในปัจจุบัน สามารถพบกลุ่มสารเหล่านี้ตกค้างในพืชผัก ผลไม้ จากการที่เกษตรกรใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช และสารกลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของปัญหาสุขภาพจากการได้รับสารพิษ และมีอัตราการเสียชีวิตสูง
Organophosphate มีอะไรบ้าง
สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ได้แก่ โมโนโครโตรฟอส (Monocrotophos) ไดเมทโธเอต (Dimethoate) ไดโครโตรฟอส (Dicrotophos) พาราไธออน – เมธิล (Parathion – methyl) และ พาราไธออน (Parathion)
และ ไดคลอร์วอส หรือดีดีวีพี (Dichlorvos / DDVP) มาลาไทออน (malathion) เทเมฟอส (Temephos) คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyriphos) ไดอะซินอน (Diazinon) ที่มักใช้การเกษตร แต่กลับพบได้ในอาหารที่วางขายอยู่ในตลาด เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าบางรายใช้ฉีดพ่นอาหารสด เช่น ปลาสด ปลาร้า หรืออาหารแห้งอย่าง ปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง ฯลฯ เพื่อกันแมลงตอม
เรารับสารออร์กาโนฟอสเฟตจากช่องทางใดบ้าง
มุนุษย์และสัตว์มีกระดูกสันหลังสามารถรับสารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตจากการกิน สูดหายใจ และซึมเข้าสู่ผิวหนัง
สารกลุ่มออร์การ์โนฟอสเฟตอันตรายอย่างไร
เมื่อได้รับสารกลุ่มเหล่านี้ ความเป็นพิษจะขึ้นอยู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลงสารพิษในร่างกาย โดยวิธีไฮโดรไลซิสในตับ ซึ่งจะมีทั้งอาการที่แสดงออกฉับพลันหลังได้รับสารพิษ หรืออาจแสดงอาการหลังจากได้รับสารเข้าไปแล้วหลายวันด้วยกัน โดยอาการเมื่อได้รับสารยาฆ่าแมลงกลุ่ม Organophosphate มีดังนี้
กรณีที่ได้รับพิษไม่รุนแรง
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ตาพร่า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีเหงื่อและน้ำลายออกมาก
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
สำหรับผู้ที่ได้รับพิษไม่รุนแรง จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่จะยังคงมีอาการอ่อนเพลียประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น
กรณีได้รับพิษปานกลาง
ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับพิษไม่รุนแรง แต่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่
- เสียการทรงตัว
- เดินเซ
- อ่อนเพลีย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- แขน-ขาไม่มีแรง แน่นหน้าอก
- รูม่านตาหรี่
กรณีได้รับพิษรุนแรง
- รูม่านตาหรี่มากขึ้น
- ซึม มึนงง
- กล้ามเนื้อกระตุก
- น้ำมูกไหลมาก
- หมดสติ
- หลอดลมตีบตัน
- กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาต
- หายใจขัด
- ระบบหายใจล้มเหลว
ทำอย่างไรเมื่อได้รับสารออร์กาโนฟอสเฟต
การปฐมพยาบาลเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำทันทีเมื่อได้รับสารหรือมีการสัมผัสสารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต
กรณีสัมผัสถูกผิวหนัง
- ถอดเสื้อผ่าที่ถูกสารเคมีออกทันที
- ล้างบริเวณผิวหนังและเส้นผม หรืออาบน้ำ สระผมทันทีหลังจากมีการสัมผัส หรือเมื่อใช้สารฆ่าแมลง โดยอย่าขัดถูรุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้สารถูกดูดซึมมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ขี้ผึ้งหรือครีมใด ๆ ยกเว้นได้รับการแนะนำจากแพทย์
- ทิ้งเสื้อผ้าที่ถูกสารเคมีทันที โดยนำใส่ถุงพลาสติกแล้วห่อให้มิดชิด จากนั้นแยกทิ้งลงถังขยะอันตราย หรือนำไปแยกซักจากเสื้อผ้าทั่วไป
กรณีเข้าตา
หากสารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตเข้าตา สารที่จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว จึงต้องรีบปฏิบัติดังนี้
- รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านตาอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการล้างแบบให้น้ำเข้าตาโดยตรง
- หากสารเข้าตาเพียงข้างเดียว ขณะทำการล้างตา จะต้องระวังไม่ให้น้ำที่ล้างตาไหลไปโดนตาอีกข้าง
- ห้ามใช้สารเคมีหรือยาใด ๆ ยกเว้นได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ปิดตาด้วยผ้าสะอาด แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
กรณีสูดดม
- รีบนำตัวผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
- ให้ผู้ป่วยนอนลงและคลายเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวม
- จับให้ผู้ป่วยเงยหน้าเพื่อให้หายใจได้สะดวก
- หากผู้ป่วยมีอาการชัก ให้สังเกตการหายใจของผู้ป่วย และระวังศีรษะผู้ป่วยอาจชนกับสิ่งใดขณะชักได้
- หากพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือหายใจผิดปกติ ให้รีบทำการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR
กรณีเข้าปาก
- หากได้รับสารพิษเข้าปากแต่ไม่ทันได้กลืน ให้รีบบ้วนและล้างปากด้วยน้ำให้มากที่สุด แล้วดื่มนมหรือน้ำในปริมาณมาก ๆ
- หากมีการกลืนสารฆ่าแมลงเข้าไป ก่อนจะทำการอาเจียนสารพิษ จะต้องรีบอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ก่อน เพราะสารบางชนิดอาจเกิดอันตรายได้หากทำให้อาเจียน
ห้ามทำให้อาเจียนในกรณีใดบ้าง
- ผู้ป่วยหมดสติ หรือผู้ป่วยมีอาการชัก
- สารที่กลืนกินเข้าไปเป็นสารกัดกร่อน เช่น กรด หรือ ด่าง เพราะการทำให้อาเจียนจะย่ิงทำให้สารย้อนกลับขึ้น แล้วไปทำลายเนื้อเยื่อที่คอและปาก และอาจทำให้สำลักสารเข้าสู่ปอด จนไปทำลายเนื้อเยื่อปอดได้
- สารที่กลืนกินเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Emulsifiable concentrates (EC) หรือ Oil miscible Liquids (OL) เพราะมีส่วนผสมของตัวทำละลายประเภทปิโตเลียม ซึ่งการทำให้อาเจียน อาจทำให้สำลักสารเข้าสู่ปอดและตายได้
วิธีการรักษา
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษออร์กาโนฟอสเฟต จะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคอง เนื่องกาจภาวะการหายใจล้มเหลว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต และยังพบได้บ่อยที่สุดในภาวะพิษจากออร์กาโนฟอสฟอรัส การรักษาแบบประคับประคอง โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยจะต้องให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย ดูดเสมหะ ใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal tube) รวมไปถึงการให้สารน้ำตั้งแต่เริ่มมีอาการ