ทำไมผู้หญิงจึงยังคงเป็นเหยื่อ ทั้งที่มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลก 

ความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยแม้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาชุมชน มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง ทั้งในด้านทางเพศ ร่างกาย และ จิตใจ ก็ยังไม่หมดไป แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการกระทำของคนแปลกหน้าและคนในครอบครัว 

ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมา ทำให้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะเก็บเป็นความลับหรือไม่กล้าบอกใคร เพราะเกรงและกลัวอำนาจของผู้กระทำที่เป็นญาติหรือพ่อแท้ ๆ ของตนเอง เช่น พ่อข่มขืนลูก ลุงข่มขืนหลาน สามีตบตีภรรยา หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ทำร้ายร่างกายลูกจนเสียชีวิตก็มีข่าวให้เห็นกันบ่อยมากในช่วงที่ผ่านมา  

ความรุนแรงต่อสตรีมีสาเหตุเรื่องใดมากที่สุด

สถิติความรุนแรงต่อสตรีจะพบว่ามีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ฝ่ายชายดื่มสุรา เสพสารเสพติด ความหึงหวง และการทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ผู้ชายลงมือทำร้ายร่างกายผู้หญิง ตบตี กระทืบ บางรายถึงขั้นใช้อาวุธทำร้ายจนถึงแก่ความตาย 

สถิติความรุนแรงต่อสตรีในสังคมไทย 

ผลจากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทยพบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย สุขภาพ จิตใจ และสังคม เฉลี่ยถึงวันละ 7 คน ในขณะที่มีการร้องทุกข์จากผู้หญิงที่ถูกเป็นเหยื่อ มากกว่า 30,000 คน ต่อปี นับว่าเป็นสถิติความรุนแรงต่อสตรีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งยังไม่นับผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าแสดงตัวออกมาร้องทุกข์ หลายรายต้องอยู่กับความหวาดกลัวและหวาดผวาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัวของสังคมไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี พ.ศ. 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี พ.ศ.2563 และยังคงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยประเภทความรุนแรงต่อสตรีที่พบมากที่สุด คือ ความรุนแรงด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 ถัดไปคือ ความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และ ความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 4.5 ซึ่งสถิติเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในจำนวนทั้งหมดของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงแล้วไม่มีการเปิดเผยหรือแสดงตน ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า สถิติที่รายงานนั้นย่อมน้อยกว่าความเป็นจริง 

ทำไมผู้หญิงไทยยังคงถูกกระทำรุนแรงต่อเนื่อง

ความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทยจะยังคงไม่หมดไป หากคนส่วนใหญ่ยังคงมีทัศคติที่ไม่ถูกต้อง อยู่ในบรรทัดฐาน ผู้ชายเป็นใหญ่ ยังฝังรากลึกคนในสังคมไทย เห็นได้จากทุกครั้งที่ฝ่ายหญิงถูกกระทำ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ออกจากบ้านไม่ได้บอกสามี ไม่เอาใจใส่สามีเท่าที่ควร หรือการมีปากเสียงเพียงเล็กน้อย ก็สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการกระทำรุนแรงต่อภรรยา และยังมีผู้ชายจำนวนมากที่กระทำเพราะมีรสนิยมความรุนแรงโดยส่วนตัว ทำให้ลูกและภรรยากลายเป็นที่รองรับอารมณ์ โดยฝ่ายหญิงเองก็ยินยอมหรือฝืนทนเพราะทัศนคติผิด ๆ ที่มีมาเนิ่นนาน อีกทั้งกฏหมายไทยเองก็ยังไม่เด็ดขาดมากพอกับบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดข้อหากระทำการรุนแรง 

นอกจากนี้ ยังมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งถูกปลูกฝังด้วยการกระทำเป็นตัวอย่างให้เห็น เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อทำร้ายแม่เป็นประจำ มีการตบตี ด่าทอ หรือบ้านที่ชายเป็นใหญ่แล้วมักจะด้อยค่าบทบาทในเพศหญิงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้เด็กได้รับการซึมซับจนกลายเป็นมรดกนิสัยที่นำไปกระทำต่อเมื่อเติบโต เช่น ทำร้ายผู้หญิง ทำร้ายแฟน ทำร้ายภรรยาและลูก เพราะมีความเข้าใจตามภาพความทรงจำในอดีต และความเชื่อผิด ๆ ที่ติดตัวมา 

ทำอย่างไรจึงจะยุติความรุนแรงต่อสตรีได้  

จากสถิติความรุนแรงในสังคมไทย ต่อให้มีหลายล้านโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรง หรือแม้แต่วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลที่จัดขึ้นทุกปี ก็ยังเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่ทัศคติ บรรทัดฐาน และ เจตคติเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยยังคงสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้รับความเท่าเทียมกันต่อการปรนนิบัติทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญและจะช่วยให้เห็นผลต่อการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงได้ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนเจตคติ บรรทัดฐานที่เอื้ออำนวยให้แก่เพศชายมากเกินไป จนกลายเป็นการสร้างอำนาจและนำมากดขี่ข่มเหงต่อเพศสตรีโดยไม่รู้สึกผิด แต่เมื่อไรที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าทุกเพศย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน และความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิด รวมไปถึงการเพิ่มมาตรการของโทษทางกฏหมายที่เข้มงวดและจริงจัง ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้อย่างแน่นอน เพราะมาตรฐานของสังคมอยู่ที่บรรทัดฐานของคนในสังคมนั้นนั่นเอง 

Previous Post
Next Post