การนวดหัวใจ ผายปอดอย่างถูกวิธี ช่วยลดการสูญเสียที่คุณก็ทำได้

อุบัติภัยที่พบได้บ่อยมากที่สุดในช่วงหน้าฝน คงจะหนีไม่พ้น ถูกไฟช็อตไฟดูดจากกระแสไฟฟ้ารั่วลงน้ำที่ท่วมขัง หรือไฟช็อตจากการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าขณะตัวเปียกหรือยืนอยู่ในที่มีน้ำขัง เนื่องจากน้ำเป็นตัวสื่อนำไฟฟ้าได้อย่างดี ทำให้พบเจอผู้ประสบเหตุดังกล่าวจำนวนมาก ไม่แพ้กรณีอุบัตเหตุคนจมน้ำ แต่ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดที่เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เราอาจช่วยลดการสูญเสียได้หากให้การช่วยเหลือได้ทันและอย่างถูกวิธี เราจึงนำวิธีการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย ที่ได้รับบาดเจ็บจากการจมน้ำ ถูกไฟดูดไฟช็อต สำลักควันไฟไหม้ หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่หมดสติ ลมหายใจอ่อน หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน ฯลฯ ด้วยการผายปอดและการนวดกระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงต่อความพิการ 

วิธีการผายปอดด้วยการให้ลมทางปาก 

  1. ให้ผู้บาดเจ็บนอนราบในพื้นที่เรียบ 
  2. จัดท่าที่เหมาะสมเพื่อเปิดทางให้อากาศเข้าสู่ปอด 
  3. ผู้ปฐมพยาบาลควรอยู่บริเวณศีรษะของผู้บาดเจ็บด้านซ้ายหรือขวามือก็ได้ 
  4. ใช้มือดึงคางผู้บาดเจ็บมาด้านหน้า และใช้มืออีกข้างดันหน้าผากไปด้านหลัง เพื่อไม่ให้ลิ้นอุดกั้นทางเดินหายใจ และระวังไม่ให้นิ้วมือที่ดึงคางกดลึกลงเนื้อใต้คาง เพราะจะไปอุดกั้นทางเดินหายใจ

(*กรณีเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ไม่ควรแหงนคางและคอมากเกินไป เพราะอาจทำให้หลอดลมแฟบ และอุดกั้นทางเดินหายใจ*)

  1. สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในปากและอ้าปากของผู้บาดเจ็บ เพื่อล้วงและนำสิ่งของในปากที่อาจไปขวางทางเดินหายใจออกให้หมด เช่น เศษอาหาร ฟันปลอม เป็นต้น 
  2. ผู้ปฐมพยาบาลอ้าปากตนเองและสูดหายใจเข้าปอดให้เต็มที่
  3. ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกผู้บาดเจ็บให้แน่นสนิท และใช้มืออีกข้างดึงคางผู้ป่วยมาข้างหน้า 
  4. ประกบปิดปากผู้บาดเจ็บพร้อมเป่าลมเข้าไป ทำเป็นจังหวะ 12-15 ครั้ง / นาที 
  5. ขณะที่เป่าปาก ใช้สายตาเหลือบมองการเคลื่อนไหวของหน้าอกผู้บาดเจ็บ หากหน้าอกไม่มีการขยับขึ้น-ลง อาจเนื่องมาจากท่านอน หรือมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ ให้ลองสังเกตและหาสาเหตุเพิ่มเติม
  6. กรณีที่อ้าปากผู้บาดเจ็บไม่ได้ ให้เป่าลมเข้าทางจมูกแทน โดยใช้ขั้นตอนต่าง ๆ เหมือนกับการเป่าปาก 

*เด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็ก ให้เป่าลมเข้าปากและจมูกไปพร้อมกัน**

วิธีการนวดหัวใจหรือการทำ CPR 

การทำ CPR คือการนวดหัวใจเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เลือดมีการไหลเวียน ซึ่ง CPR ย่อมาจาก Cardiopulmonary resuscitation เป็นวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเกิดหัวใจหยุดเต้น โดยสามารถสังเกตได้จากการฟังเสียงหัวใจเต้น การจับชีพจรการเต้นของหัวใจที่บริเวณคอ ข้อพับแขน ข้อมือ ขาหนีบ ซึ่งจะต้องรีบทำการช่วยปั๊มหัวใจให้กลับมาเต้นโดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อสมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง จนอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ โดยวิธีการทำ CPR มีขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. ให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นแข็ง หรืออาจใช้ไม้กระดานรองหลังผู้ป่วย 
  2. ผู้ปฐมพยาบาลคุกเข่าข้างใดข้างหนึ่งลง ให้ชิดกับหน้าอกผู้ป่วย 
  3. ใช้นิ้วสัมผัสชายโครงไล่ขึ้นมา เพื่อคลำหาส่วนล่างสุดของกระดูกอกต่อกับกระดูกซี่โครง 
  4. วางนิ้วชี้และนิ้วกลางตรงตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงต่อกับกระดูกอกส่วนล่างสุด 
  5. วางสันมืออีกข้างบนตำแหน่งถัดจากนิ้วชี้และนิ้วกลางบนสันมือที่วางอยู่บนกระดูกหน้าอก 
  6. เมื่อวางมืออีกข้างทับลงบนหลังมือในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว เหยียดนิ้วมือตรงแล้วเกี่ยวนิ้วมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน 
  7. เหยียดแขนตรงโน้มตัวตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วย โดยทิ้งน้ำหนักลงบนแขนขณะกดกับหน้าอกผู้ป่วย ให้กระดูกลดระดับลง 1.5 – 2 นิ้ว 
  8. เมื่อกดสุดแล้วให้ผ่อนมือขึ้น โดยไม่ต้องเลื่อนตำแหน่งไปจากจุดเดิม และขณะกดหน้าอกนวดหัวใจห้ามใช้นิ้วมือกดลงบนกระดูกซี่โครงผู้ป่วย 
  9. กดเป็นจังหวะโดยนับ 1- 2 – 3 – 4 – 5 และการกระตุ้นหัวใจอย่างถูกต้อง ต้องใช้อัตราอัตราความเร็วประมาณ 80-100 ครั้ง / นาที 
  10. หากผู้ปฐมพยาบาลมีคนเดียว ให้ทำ CPR 15 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ทำสลับเป็นชุดแบบนี้จนครบ 4 ชุด แล้วลองตรวจชีพจรและลมหายใจ หากคลำแล้วไม่เจอชีพจรต้องนวดหัวใจต่อ แต่ถ้าหากพบจุดชีพจรแต่ยังไม่มีลมหายใจ ให้เป่าปากต่อไปอย่างเดียว 
  11. หากมีผู้ปฐมพยาบาล 2 คน ให้คนหนึ่งทำหน้าที่เป่าปาก อีกคนทำ CPR โดยนวดหัวใจ 5 ครั้ง และอีกคนสลับการเป่าปาก 1 ครั้ง ขณะที่เป่าปาก คนที่ทำ CPR จะต้องหยุดนวดหัวใจ 
  12. ในเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ให้นวดหัวในด้วยการใช้เพียงนิ้วหัวแม่มือกดกลางกระดูกหน้าอก ด้วยอัตราเร็วที่ 100 – 120 ครั้ง / นาที โดยใช้นิ้วมือโอบรอบทรวงอกสองข้างแล้วใช้หัวแม่มือกด 

การทำ CPR นวดหัวใจให้กับผู้ป่วยทุกกรณีและในทุกวัย จะต้องทำอย่างถูกวิธีและกะน้ำหนักของการกดมืออย่างระมัดระวัง เพราะหากทำผิดพลาด ใช้น้ำหนักที่รุนแรงเกินไป ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายกับผู้ป่วยได้ เช่น ตับหรือม้ามแตก กระดูกซี่โครงหัก โดยเฉพาะในเด็กอ่อน ยิ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมไปถึงการเป่าปากและทำ cpr จะต้องสัมพันธ์กัน แต่อย่าทำพร้อม ๆ ในเวลาเดียวกัน เพราะนอกจากจะไม่ได้ผล แต่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บาดเจ็บได้

เมื่อไรควรหยุดทำ CPR 

ควรทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้บาดเจ็บจะมีรู้สึกตัว หรือจนกว่าทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมาถึงและรับช่วงต่อในการนำตัวผู้บาดเจ็บไปรักษาในขั้นตอนต่อไป 

และอย่าลืมแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ติดต่อสายด่วน 1669

Previous Post
Next Post