อากาศร้อน ๆ ต้องรับร้อนด้วยของเย็น ๆ ตู้เย็นที่บ้านเลยต้องรับกับสภาพความแออัด เพราะพื้นที่ในตู้เย็นแน่นเอี๊ยดไปด้วยของกิน ไม่ว่าอะไรขอยัดใส่ตู้เย็นเอาไว้ก่อน วันนี้เราจะมาชวนจัดระเบียบตู้เย็นกันค่ะ เพราะตู้เย็นที่รกและไม่เป็นระเบียบ ทำให้เราไม่สามารถเห็นของกินที่ซื้อมาก่อน-หลังได้ จนต้องจำใจทิ้งของกินเพราะหมดอายุบ่อย ๆ กันใช่ไหมคะ แต่หลังจากที่จัดตู้เย็นตามแบบฉบับที่เรานำมาฝากในวันนี้แล้ว ก็ไม่ต้องทิ้งของกินอีกแล้ว แถมอาจเหลือพื้นที่ให้ใส่ของกินอื่น ๆ เพิ่มได้อีกน๊าาา ว่าแล้วเราไปดูวิธีจัดตู้เย็นอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพกันเลยดีกว่าค่ะ
1. เน้นน้อย ๆ เข้าไว้
มาข้อแรกก็จะให้เก็บของใส่ตู้เย็นน้อย ๆ หรืออย่างไร เป็นไปได้เหรอ ยิ่งอากาศร้อน ๆ ต้องตุนของเย็น ๆ ไว้ดับร้อน ใช่ไหมคะ แต่รู้ไหมคะว่า การมีของในตู้เย็นน้อยเท่าไร ยิ่งดีต่อสุขภาพการบริโภคของเรามากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อมีของน้อยจะทำให้เราสามารถเลือกอาหารที่มีประโยชน์มาทานได้ง่าย ทานอาหารได้ทันก่อนวันหมดอายุ ได้สารอาหารครบถ้วน แถมยังประหยัดไฟขึ้นอีกเยอะ เพราะตู้เย็นไม่ทำงานหนักเกินไปจากการพยายามปรับความเย็นให้เป็นปกติภายในเครื่อง ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอาหารโลก แล้วยังเซฟเงินในกระเป๋าได้อีกต่างหาก เรียกได้ว่าดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพกระเป่าตังค์มาก ๆ เลยล่ะ
2. เก็บผัก ผลไม้ ในที่สามารถมองเห็น
เมื่อจะเก็บผัก ผลไม้ ใส่ตู้เย็น ควรหั่นผักแล้วเก็บใส่ถุงหรือภาชนะที่เก็บรักษาความสดได้ เดี๋ยวนี้มีถุงแช่ผัก ถุงเก็บผลไม้ในตู้เย็นโดยเฉพาะจำหน่าย ทำให้สะดวกต่อการเก็บผักผลไม้ให้สดและมีความกรอบได้นานขึ้น สำหรับ แครอท มะละกอ แตงโม ควรวางชั้นบนสุด เพราะจะได้มองเห็นชัดและหยิบมารับประทานก่อน และควรแยกเก็บผักกับผลไม้ออกจากช่องเก็บผัก เพราะผักหรือผลไม้บางชนิดจะสูญเสียวิตามิน แร่ธาตุ และเสียเร็ว
3. แยกเก็บอาหารที่มีประโยชน์ให้มองเห็นง่ายที่สุด
อาหารที่มีประโยชน์ อาหารดีต่อสุขภาพ ควรเก็บไว้ตรงชั้น 2 ของตู้เย็น หรือชั้นรองจากชั้นแช่แข็ง เพราะจะช่วยให้มองเห็นได้ง่าย หยิบทานได้สะดวก
4. เก็บตุนอาหารที่มีประโยชน์ไว้ในตู้เย็นเสมอ
ควรมีอาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นต่อการบริโภคติดไว้ในตู้เย็นเสมอ เช่น น้ำ น้ำแข็ง นม และควรนำอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพใส่ในตู้เย็นแทนอาหารที่ไม่ประโยชน์ เพื่อให้เปิดตู้เย็นเมื่อไรก็ได้หยิบอาหารเหล่านั้นมาทาน ทำให้ได้สารอาหารที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น ผลไม้แทนขนมขบเคี้ยว นมถั่วเหลืองแทนน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน เป็นต้น
5. ของว่างและอาหารสำหรับมื้อหลัก
หลายคนที่มักจะมัวแต่ทำงาน หรือมีกิจกรรมมากมายจนลืมใส่ใจสุขภาพในเรื่องของอาหาร ทำให้หาอะไรทานง่าย ๆ ทดแทนอาหารหลักในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะในช่วงเร่งรีบตอนเช้า หรือแม้แต่ช่วงกลางวันที่มักจะต้องแย่งกันซื้อ แย่งกันรอคิวตามร้านอาหาร ดังนั้นควรมีของว่างและจัดเตรียมอาหารไว้สำหรับมื้อหลัก ๆ ไว้ในตู้เย็น และจัดวางในบริเวณที่มองเห็น เมื่อเปิดตู้เย็นก็สามารถหยิบมารับประทาน หรือเพียงแค่นำไปอุ่นร้อนและรับประทานได้เลย ช่วยประหยัดเวลาแต่ยังได้คุณค่าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่นกัน
6. จัดเรียงตามเวลาก่อน – หลัง ในการซื้อ
จัดเรียงอาหารและเครื่องดื่มที่ซื้อมาก่อนหรือใกล้หมดอายุไว้ด้านหน้า เห็นสะดวกและหยิบได้ง่าย และเรียงที่ซื้อมาทีหลัง หรือมีระยะเวลาวันหมดอายุอีกนานเรียงไปตามลำดับ เพื่อจะได้หยิบเป็นลำดับต่อไป ทำให้ได้ทานอาหารได้ครบและทันก่อนวันหมดอายุ ไม่ต้องทิ้งให้เป็นขยะอาหารสร้างมลพิษ ดีต่อสุขภาพและยังช่วยรักษ์โลกอีกด้วย