เคยสงสัยไหม “ค่ากำเหน็จทอง” คืออะไร เราต้องจ่ายไหม ทำไมต้องเก็บ?

ในช่วงที่เศรษฐกิจดูไม่แน่นอน อะไรๆ ก็พร้อมจะดิ่งลงทุกเมื่อ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นที่นิยมสำหรับหลายคนที่ต้องการเก็บไว้เกร็งกำไรในระยะยาวก็คือ “ทอง” เพราะเหมือนกับที่ดิน มีแต่ขึ้นกับขึ้น แล้วแต่ว่าจะขึ้นไปมากเท่าไหร่ในแต่ครั้ง

แต่สำหรับมือใหม่จะกำเงิน 25,000 ในช่วงที่ทองบาทละ 25,000 บาทก็คงจะงงว่า อ้าว ก็มีเงินเท่าราคาทอง แต่จะซื้อทำไมซื้อไม่ได้ หรือทำไมซื้อได้ไม่เต็มบาท ก็เพราะว่าทางร้านเขาจะคำนวณ “ค่ากำเหน็จ” ใส่มาด้วยนั่นเอง

แล้วค่ากำเหน็จที่ว่าคืออะไร เราจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ หากเราเอาทองไปขายเราจะได้เงินนั้นกลับมาด้วยหรือเปล่า ไปหาคำตอบกันได้เลย!

ค่ากำเหน็จคืออะไร?

ค่ากำเหน็จ คือค่าแรงของช่างทำทอง เป็นค่าจ้างให้กับช่างที่ทำลวดลายบนทองชิ้นนั้นๆ โดยจะคิดราคาต่อชิ้น ซึ่งราคาจะแตกต่างไปตามความยากง่ายในการทำทองชิ้นนั้นๆ

และค่าแรงในการทำทองก็จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ

  • ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ
  • ค่ากำเหน็จทองคำแท่ง

ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ

ค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ คือ ค่าแรงในการทำทองแท่งมาแปรรูปทำเป็นเครื่องประดับทองคำ เช่น แหวนทอง สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล จี้ทอง ต่างหู ฯลฯ จะมีค่าแรงหลากหลายระดับ ขึ้นอยู่กับลวดลายทองที่ทำ โดยมาตรฐานค่าแรงทองรูปพรรณ 1 บาท จะอยู่ที่ราวบาทละ 500 – 800 บาท หากเป็นลายยาก หรือรายละเอียดซับซ้อน อาจอยู่ที่ราว 1,000 – 3,000 บาท

ยกตัวอย่าง ราคาทองรูปพรรณขายออกบาท 19,500 บาท มีค่ากำเหน็จ 800 บาท

  • ซื้อสร้อยคอ 1 บาท ราคาที่ต้องจ่าย เท่ากับ 19,500 + 800 = 20,300 บาท
  • ซื้อแหวนทอง 1 สลึง ราคาที่ต้องจ่าย เท่ากับ 19,500/4 + 800 = 5,675 บาท

ทองคำแท่ง จะมีค่ากำเหน็จน้อยกว่าทองรูปพรรณ เพราะการผลิตง่ายกว่า

ค่ากำเหน็จทองคำแท่ง

ค่ากำเหน็จทองคำแท่ง คือ ทองคำที่ผลิตเป็นแท่งบล็อคสี่เหลี่ยม จะมีค่าแรงที่เรียกอีกชื่อว่า “ค่าบล็อค” หรือ “ค่าพรีเมี่ยม” (ใช้กับการซื้อขายทองแท่ง) ส่วนใหญ่จะมีราคาถูกกว่าค่ากำเหน็จทองรูปพรรณ เนื่องจากผลิตง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็มีความสวยงามไม่แพ้ทองรูปพรรณ 

โดยมาตรฐานค่าแรงทองแท่ง 1 บาท จะอยู่ที่ประมาณบาทละ 100-400 บาท แต่หากทองแท่งนั้นเป็นลวดลายพิเศษก็อาจจะมีค่าแรงสูงกว่านี้ได้ บางที่อาจไม่ต้องจ่ายค่าบล็อคหากซื้อทองแท่งขนาดตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป

ยกตัวอย่าง ราคาทองคำแท่ง ขายออก 19,500 บาท มีค่าบล็อค 300 บาท

  • ซื้อทองแท่ง 1 บาท ราคาที่ต้องจ่าย 19,500 + 300 = 19,800 บาท
  • ซื้อทองแท่ง 0.25 บาท (1 สลึง) ราคาที่ต้องจ่าย 19,500/4 + 300 = 5,175 บาท

เท่ากับว่า ยิ่งมีคนซื้อแบบไม่เต็มบาทมากเท่าไหร่ ร้านก็จะได้กำไรจากค่ากำเหน็จมากเท่านั้น เพราะอย่างน้อยก็จะได้มากกว่า 1 ครั้งนั่นเอง

ขายทองจะได้ค่ากำเหน็จคืนไหม?

จริงอยู่ว่า เวลาไปซื้อทองทางร้านทองจะคิดราคาจาก ค่าเนื้อทอง (น้ำหนักทอง) + ค่าแรง ซึ่งหากซื้อทองน้ำหนักน้อยกว่า 1 บาท เช่น 2 สลึง, 1 สลึง, ทองครึ่งสลึง หรือทอง 1 กรัม ค่าแรงต่อชิ้นก็อาจจะไม่ได้แตกต่างกับค่ำกำเหน็จของทอง 1 บาทมากนัก เพราะค่าแรงคิดตามความยากง่ายของการผลิตทองชิ้นนั้นๆ ไม่ได้คิดตามน้ำหนักทอง

แต่เวลาขายทองคืนร้านทอง ร้านทองจะให้ราคาตามน้ำหนักทองที่ชั่งได้เท่านั้น ไม่ได้นำค่ากำเหน็จมาคิดราคาคืนให้ 

ทั้งนี้ ร้านทองแต่ละร้านจะคิดค่ากำเหน็จต่างกัน หากเป็นร้านทองรายย่อย หรือ ร้านทองต่างจังหวัดจะคิดในส่วนของก็อาจจะมีค่าขนส่ง ค่าจ้าง ค่าประกัน เพิ่มเข้าไปด้วย เพราะต้องซื้อทองจากร้านทองรายใหญ่มาขาย ทำให้ค่ากำเหน็จหรือค่าแรงอาจจะแพงกว่าร้านในเมือง หรือร้านในกรุงเทพฯ

Previous Post
Next Post