เป็นตัวอย่างที่ดี
เด็ก ๆ จะเรียนรู้ในสิ่งที่เห็นมากกว่าคำพูด และมักจะจดจำพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนรอบข้างได้ดี จนอาจมีการนำไปทำตาม สังเกตง่าย ๆ ในเด็กเล็กเมื่อเราทำท่ากวักมือ เด็กก็จะกวักมือตาม เมื่อเรายื่นของให้ใคร เขาจะเลียนแบบที่จะยื่นของให้คนอื่นด้วย ดังนั้น เมื่อลูกเริ่มก้าวสู่วัยที่มีพัฒนาการ หากอยากให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ เราก็ต้องมีน้ำใจต่อลูกและคนอื่นให้เขาได้เห็น อยากให้เขามีความเมตตา ก็ต้องแสดงความเมตตาแก่ผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ๆ ให้เห็น เด็กจะซึมซับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นที่มาของคำว่า เด็กคือกระจกสะท้อนการเลี้ยงดูของพ่อแม่
ให้เวลากับลูก
แม้ว่าต้องทำงานหนักแค่ไหน แต่ควรจัดสรรเวลาที่จะอยู่กับลูก ได้พูดคุยและรับฟังความรู้สึกหรือปัญหาที่เด็กอาจเจอมาในแต่ละวัน ถามไถ่ความรู้สึก เช่น วันนี้ไปเรียนมาเป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยไหม มีอะไรที่ไม่สบายใจ หรือรู้สึกอย่างไรบ้างในวันนี้ ก่อนที่จะถามเรื่องการบ้าน หรือการอ่านหนังสือ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะตั้งต้นแต่จะถามเรื่องนั้นกับลูก โดยไม่ได้ใส่ใจที่จะสอบถามความรู้สึกของเด็ก หรือเมื่อลูกต้องการจะเล่าหรือปรึกษา ก็ปฏิเสธเพื่อรีบไปทำงาน ทำให้แทบไม่ได้ใช้เวลาร่วมกัน เกิดความห่างเหิน และเมื่อเด็กเจอปัญหาก็จะไม่กล้าพูดคุยเพราะกลัวจะโดนดุที่รบกวนเวลาอันมีค่าของพ่อแม่ (แต่เวลาของลูกไม่เคยมีค่าเลย)
ดังนั้น หากไม่อยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกกลายเป็นคนร่วมบ้านเฉย ๆ ในอนาคต ควรให้เวลาอยู่กับลูกให้มากพอเท่าที่คุณจะทำได้ เพราะเมื่อลูกเติบโตขึ้น พวกเขาก็ต้องออกไปใช้ชีวิตจนอาจไม่มีเวลาให้คุณมากพอ
ชมเชยลูกในสิ่งที่เขาทำได้
การชมเชยลูกในที่นี้ไม่ได้เน้นเรื่องของผลลัพท์ แต่มองที่กระบวนการ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น หรือแม้แต่การได้ลงมือทำ แม้ว่าผลลัพท์จะออกมาไม่ดี เช่น ลูกสอบได้คะแนนไม่ดี หรือลูกไม่ผ่านการคัดเลือก พ่อแม่ควรชื่นชมและชี้ให้เห็นข้อดีของลูกที่มีความพยายาม ความตั้งใจ และให้กำลังใจแก่พวกเขา ทำให้พวกเขาไม่หมดหวังหรือเสียกำลังใจ แต่จะช่วยให้เด็กได้มองเห็นคุณค่าในตนเอง ต้องการพัฒนาตัวเองให้มากกว่าเดิม และมีความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเอง และการชมที่ดี ไม่ควรแฝงด้วยคำประชดหรือคำตำหนิต่อท้ายประโยค เช่น ขยันทำการบ้านก็ดีแล้ว แต่ไม่รู้จะทำถูกบ้างหรือเปล่า แม่คงได้ช่วยทำอยู่ดี หรือ สอบติดก็ดีแล้วแต่ไม่รู้จะขยันไปเรียนแค่ไหน เป็นต้น ซึ่งคำชมแบบนี้จะบั่นทอนความรู้สึกและกำลังใจของลูก และยังทำให้เด็กสับสนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นตกลงดีหรือไม่ดี จนอาจเลิกล้มความตั้งใจและความพยายามที่จะทำต่อไปได้
หายใจลึก ๆ นับ 1 – 10 ก่อนดุลูก
เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่ส่วนใหญ่จะโกรธจนเสียการควบคุมตัวเอง สติแตก จนอาจทำให้พูดหรือแสดงกิริยาที่ทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่บางคนถึงขั้นตีลูกอย่างรุนแรง หรือใช้คำด่าทอจนฝังลึกใจในจิตใจของลูก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อจิตใจลูกไปจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อเขาทำอะไรผิดพลาด ให้หายใจเข้า-ออกลึก ๆ แล้วนับ 1-10 เพื่อดึงสติให้กับตัวเอง การทำแบบนี้ จะช่วยให้อารมณ์โกรธที่พุ่งพล่านเหมือนพายุทอร์นาโดลูกบิ๊กเบิ้ม ค่อย ๆ สงบลงจนเหลือเป็นลมเย็น ๆ ที่อาจมีความแรงอยู่ในแกนพายุ แต่มันจะไม่แสดงออกมาทำลายสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้พังยับเยิน เมื่อเริ่มควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว ก็ควรคุยกับลูกด้วยเหตุผล ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำไมจึงทำไม่ได้ อาจยกตัวอย่าง และบอกเหตุผล พร้อมกับผลลัพท์ที่จะตามมาจากกระทำนั้น ๆ เพื่อปลูกฝังทัศคติและปรับพฤติกรรมของลูกได้อย่างราบรื่น
สนับสนุนให้ลูกมีพัฒนาการสมวัยและเหมาะสม
อย่าคาดหวังว่าลูกจะต้องทำสิ่งนี้ได้ ทำสิ่งนั้นดี เพราะเด็กในแต่ละวัยมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไป ต้องพยายามทำความเข้าใจช่วงวัยของลูก เด็กในช่วงอายุนี้สามารถเรียนรู้อะไรได้ดี และยังทำอะไรไม่ได้ เพื่อจะได้สอนหรือให้เขาได้เรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ทุกช่วงวัยของเขาได้เติบโตอย่างมีความสุข โดยปราศจากความคาดหวังจนกดดันลูกมากเกินไป และเมื่อเขาทำสิ่งใดได้ดี หรือมีการเรียนรู้ได้เร็ว ก็คอยชมเชยและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินพอดีจนกลายเป็นความคาดหวัง เพราะเด็กสามารถรับรู้ได้ ทำให้เขารู้สึกอึดอัดอาจล้มเลิกกลางคัน หรือฝืนทำอย่างไม่มีความสุข